พระปกเกล้าโพลล์ ชี้ ปชช.ใช้เกณฑ์ลต. 'คนซื่อสัตย์-มีผลงาน-นโยบายโดน'

พระปกเกล้าโพลล์ ชี้ ปชช.ใช้เกณฑ์ลต. 'คนซื่อสัตย์-มีผลงาน-นโยบายโดน'

พระปกเกล้าโพลล์ ชี้ ปชช.ใช้เกณฑ์เลือกตั้ง คนซื่อสัตย์-มีผลงาน-นโยบายโดน "วุฒิสาร" ชี้คนตั้งใจไปเลือกตั้งเพิ่มขึ้น คาดคนใช้สิทธิเกิน 80%

เมื่อวันที่ 5 มี.ค.62 ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า แถลงผลสำรวจความคิดเห็น ครั้งที่ 4 ต่อประเด็นปัจจัยการเลือกผู้สมัคร และ พรรคการเมือง รวมถึงคณะลักษะของนายกรัฐมนตรีที่พึงประสงค์ และความมุ่งมั่นในการเลือกตั้ง ผ่านการสำรวจความเห็นตามกลุ่มเป้าหมาย 4 ภูมิภาค ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปี - 60 ปีขึ้นไป จำนวน 1,540 ตัวอย่างที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ ซึ่งการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษา ถึงสูงกว่าระดับปริญญาตรีรวมถึงครอบคลุม 5 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ ภาคราชการ, ภาคธุรกิจเอกชน, ภาคเกษตรกรรม, ภาคแรงงาน และ กลุ่มอื่นๆ โดยสำรวจตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2562

ประเด็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือก ผู้สมัคร ส.ส. นั้น มี 5 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.มีความซื่อสัตย์ สุจริต คิดเป็นร้อยละ 80.5, 2.มีวิสัยทัศน์ ความคิดก้าวหน้า ร้อยละ 74.2, 3.ความสามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ ร้อยละ 60.6, 4.สามารถนำเงินพัฒนาพื้นที่ ร้อยละ 50.1 และ 5.มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในพื้นที่ ร้อยละ 47.8 อย่างไรก็ตามผลสำรวจยังระบุด้วยว่าคุณสมบัตของผู้สมัคร ส.ส. ที่มีปัจจัยส่งผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส.เขต ที่น้อยที่สุด คือ มีบุคลิก รูปร่างหน้าตาดี, สัญญาว่าจะให้สิ่งของหรือเงิน และเพศของผู้สมัคร ส.ส.

ประเด็นการตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง มี 5 ปัจจัยที่ได้คะแนนสูงสุด คือ นโยบายของพรรค ร้อยละ 67.1 รองลงมาคือ,หัวหน้าพรรค ร้อยละ 58.9 , อุดมการณ์ หรือ เจตนารมณ์ของพรรค ร้อยละ 56.9, แนวทางการทำงานการเมือง ร้อยละ 55.7 และผลงานของพรรคในอดีต ร้อยละ 47.3 ขณะที่ปัจจัยที่ไม่มีผลต่อการตัดสินใจ อาทิ ผ่านการแนะนำจากคนรู้จัก, อิทธิพลของครอบครัว

ประเด็นการตัดสินใจเลือกผู้ที่จะเป็นนายกฯ ในอนาคต 5ปัจจัยที่ได้คะแนนสูงสุด คือ มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 87.1 รองลงมา คือ มีภาวะผู้นำและมีความโปร่งใสในการทำงาน ร้อยละ 81.5, มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ร้อยละ 79.3, มีความเสียสละ ร้อยละ 71.9 และ มีวินัย ร้อยละ 71.2

ขณะที่การตัดสินใจของประชาชนที่จะเลือกตั้งนั้น ยังให้ความสำคัญกับ ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งสูงสุด ร้อยละ 43.5 รองลงมาคือ พรรคการเมืองที่สังกัด ร้อยละ 36.8 และ บุคคลที่พรรคสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ร้อยละ 19.7 ขณะที่ประเด็นที่เป็นปัจจัยน้อยสุด คือ การสื่อสารกับต่างประเทศ, มีวาทะศิลป์ในการสื่อสาร เป็นต้น

ทั้งนี้ผลสำรวจพบความเปลี่ยนแปลงต่อการออกไปใช้สิทธิ์ คือ เพิ่มสูงขึ้นจากการสำรวจเมื่อครั้งที่ 3 ถึงร้อยละ 2.9 คือ ครั้งที่ 4 มีผู้ตั้งใจไปเลือกตั้ง ร้อยละ 95.8 ขณะที่ครั้งที่ 3 มีความตั้งใจไปเลือกตั้ง ร้อยละ 92.9

โดยนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะการตัดสินใจออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ว่า หากผลสำรวจเป็นบทสะท้อนภาพเป็นจริง เชื่อว่าจะมีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เกินร้อยละ 80 หรือคิดเป็น 40 ล้านคน ดังนั้นการคำนวณคะแนนเลือกตั้ง ต่อเก้าอี้ส.ส. จะปรับจากคะแนน 7.5 หมื่นคะแนนเป็น 8 หมื่นคะแนน

ผมเชื่อว่าหากประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก จะทำให้การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม เป็นที่ยอมรับ เพราะเชื่อว่าไม่มีผู้ใดที่กล่าวหาว่าการเลือกตั้งดังกล่าวไม่มีความยุติธรรมได้ ทั้งนี้เกณฑ์ที่ประชาชนเลือกผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่มากกว่าพรรคหรือบุคคลที่เสนอชื่อเป็นนายกฯ ผมแนะนำว่า ผู้สมัคร ส.ส.ต้องทำการบ้านและเดินลงพื้นที่เข้าหาประชาชนมากกว่าเดิมในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง นายวุฒิสาร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับผลสำรวจความเห็นดังกล่าว ยังมีประเด็นที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง ที่น่าสนใจ อาทิกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มอายุ 18 25 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มนิวโหวตเตอร์ จะเลือกพรรคการเมืองที่แนวทางการทำงาน โดยดูจากผลงานของพรรค อุดมการณ์และเจตนารม์ของพรรค รวมถึงพิจารณาจากตัวผู้นำพรรค ขณะที่การเลือกนายกฯ จะพิจารณาจากบุคคลที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล, กลุ่มอายุ 26 35 ปี จะเลือก ผู้สมัคร ส.ส. ที่แก้ปัญหาในพื้นที่ได้ ขณะที่การเลือกนายกฯ จะพิจารณาจากความเชี่ยวชาญด้านการบริหาร, กลุ่มอายะ 36 45 ปี จะเลือกพรรคจากนโยบาย, กลุ่มอายุ 46-60 ปี จะเลือกผู้สมัคร ส.ส. ที่ซื่อสัตย์ สามารถนำเงินพัฒนาพื้นที่ได้ ขณะที่การเลือกนายกฯ จะพิจารณาจากผู้มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต และเป็นผู้มีความอุทิศ เสียสละ รวมถึงโปร่งใสในการทำงาน และ กลุ่มอายุ 61 ปีขึ้นไป เลือก ผู้สมัคร ส.ส. ที่มีวิสัยทัศน์และความคิดก้าวหน้า รวมถึงมีผลงานที่เป็นที่ประจักษ์