นวัตกรรมวัคซีนนาโน-น้ำยางเคมีต่ำ พบได้ที่ NAC2019

นวัตกรรมวัคซีนนาโน-น้ำยางเคมีต่ำ พบได้ที่ NAC2019

น้ำยางพาราข้นชนิดใหม่สำหรับผลิตหมอนและที่นอนยางพาราโดยเฉพาะ, วัคซีนปลาแบบจุ่มไม่ใช้เข็ม ตัวอย่างนวัตกรรมที่พร้อมติดปีกผู้ประกอบการ ในงานประชุมประจำปี สวทช. “NAC2019” ที่ตั้งเป้าใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ตอบโจทย์เศรษฐกิจแห่งอนาคต

จากการเข้าไปทดสอบพัฒนาการทำน้ำยางพาราเป็นโฟมยาง จนมีโอกาสเห็นปัญหาเรื่องของเงินทุนหมุนเวียนที่ชุมชนต้องเสียไปในการสต๊อกน้ำยางเพื่อบ่ม 21 วัน จึงเกิดเป็นการพัฒนา “พาราฟิต” น้ำยางพาราข้นชนิดใหม่สำหรับการผลิตหมอนและที่นอนยางพารา โดยทั่วไปแล้วการจัดเตรียมน้ำยางพาราข้นใช้เวลาบ่ม 21 วัน มีส่วนผสมของแอมโมเนียเพื่อป้องกันการบูดเน่า เมื่อจะนำมาขึ้นรูปก็ต้องกำจัดแอมโมเนียออก ขณะที่น้ำยางพาราข้น ParaFIT (พาราฟิต) จะลดเวลาบ่มเหลือ 3 วัน แถมยังใช้แอมโมเนียเพียง 0.15% จากเดิมใช้ตั้งแต่ 0.29%, 0.59% และ 0.7%


ข้อดีของพาราฟิตนั้น นอกจากจะช่วยลดเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อน้ำยางพาราสด การสร้างอุปกรณ์จัดเก็บน้ำยางพาราข้น และลดขั้นตอนการกำจัดแอมโมเนียออกจากน้ำยางก่อนนำไปขึ้นรูป หมอนและที่นอนที่ได้ยังมีเนื้อสัมผัสที่นิ่ม เนียน สีขาวสวย และยังมีความแข็งแรงมากกว่าเดิม น้ำยางพาราฟิตพัฒนาโดย ปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ปัจจุบันเตรียมส่งต่อให้กับสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง หลังจากทดลองใช้และได้รับผลตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าไทยและจีน


ส่วนงานวิจัย “นาโนวัคซีนดูดซึมทางเหงือกต้านโรคในปลา” ที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนา วัคซีนปลา รูปแบบใหม่ให้เป็นแบบแช่ระยะเวลาสั้น ๆ ครั้งละจำนวนมากแทนการฉีดทีละตัว อีกทั้งสามารถทำได้กับปลาทุกวัย ธีรพงศ์ ยะทา นักวิจัยกลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน และทีมวิจัยนาโนเทค กล่าวว่า วัคซีนนี้เป็นประโยชน์สำหรับป้องกันและลดความเสียหายจากโรคระบาดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคในปลานิล รวมไปถึงลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้ด้วย ปัจจุบันมีเอกชนรายใหญ่สนใจจะรับถ่ายทอดเทคโนโลยี และยังจะเข้าหากลุ่มเป้าหมายอื่นๆ โดยเฉพาะฟาร์มปลาขนาดใหญ่ที่เน้นขายลูกพันธุ์ปลาอีกด้วย

ส่วนผลงานวิจัยอื่นๆ ในงาน NAC 2019 อาทิเช่น ผลงานวิจัยอื่นๆ ในงาน NAC 2019 อาทิเช่น 

-อาหารปั่นผสมสำเร็จรูปสำหรับผู้ที่ต้องได้รับอาหารทางสายยาง (Ready-to-use tube-feeding blenderized diets) 

- เวย์โปรตีนพร้อมดื่ม เก็บได้นาน รสชาติอร่อย มีโปรตีนสูง 

- ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand : NBT หรือ BIOBANK)     

- Kidbright chem kid: เครื่องอ่านสีสารละลายเพื่อการศึกษาทางด้านเคมี 

- ไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ

- สารเคลือบนาโนป้องกันตะกรันบนแผงรังผึ้ง (CelPad Xtreme)

- เพอร์ริคอล (PERICOL) นวัตกรรมเพื่อทดแทนยาปฏิชีวนะที่ใช้ผสมในอาหารสัตว์ (หมู/ไก่) ของบริษัท เวท โปรดักส์ รีเซิร์ช แอนด์ อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด 


ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า งานประชุมวิชาการ NAC2019 นับเป็นปีที่ 15 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของชาติในการนำ วทน. มาใช้ในทุกภาคส่วน  ความสำเร็จของงาน NAC ในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากการเชื่อมโยงกันของผู้ใช้เทคโนโลยีและผู้สร้างเทคโนโลยี รวมถึงการที่สถาบันวิจัยจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมออกบูธในงานนี้อย่างต่อเนื่อง หรือภาคเอกชนที่รวมตัวกันเป็นเครือข่าย เช่น ซีซีทีวี กลุ่มกล้วยไม้ เมล็ดพันธุ์ ที่มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนโจทย์วิจัยร่วมกัน ส่วนงานในปีนี้จะเริ่มเห็นนวัตกรรมที่มุ่งตอบโจทย์อนาคต รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นโจทย์จากผู้ใช้ จึงคาดหวังที่จะให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกร หรือชุมชน นำ วทน. ไปใช้ให้เกิดประโยชน์


สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในฐานะประธานจัดงาน NAC2019 กล่าวว่า งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 มี.ค.นี้ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการประชุมฯ และนิทรรศการ 


ภายในงานจะมีการสัมมนาจากผู้ทรงคุณวุฒิและอบรมเชิงปฏิบัติการมากกว่า 50 เรื่อง มีทั้งเรื่องราวความรู้ของเศรษฐกิจแนวใหม่ อาทิ แนวโน้ม โอกาสและความท้าทายของการวิจัยพัฒนาชั้นแนวหน้า (Frontier Research) ที่ผสมผสานการวิจัยพื้นฐานร่วมกับการวิจัยประยุกต์ เพื่อสร้างแนวคิดและองค์ความรู้ที่มีศักยภาพไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและหน่วยงานทดสอบมาตรฐานต่างๆ ตลอดจนนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ธุรกิจจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ พร้อมคำแนะนำบริการและมาตรการสนับสนุนภาคเอกชนของ สวทช. ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพและสร้างกำไรให้กับธุรกิจได้โดยไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป