ชุมชนยื่นทบทวน 'อีอีซี'

ชุมชนยื่นทบทวน 'อีอีซี'

เครือข่ายประชาชนเสนอพรรคการเมืองทบทวนนโยบายอีอีซี 4 ข้อ แนะให้ชะลอลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รอรัฐบาลใหม่มาพิจารณา ชี้เห็นสัญญารัฐบาลเร่งเคาะประมูลเมกะโปรเจค จี้ยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกเลิกกฎหมายอีอีซี

การพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในช่วงที่ผ่านมามีการคัดค้านจากเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะยืนยันว่าการพัฒนาอีอีซีจะดูแลประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบ แต่มีหลายโครงการมีการมียื่นเรื่องให้ทบทวนโครงการต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ (ไอซีดี) ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาพื้นที่ของกระทรวงคมนาคม รวมถึงการคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมบลูเท็ค ฉะเชิงเทรา และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี โครงการ 2

ชุมชนยื่นทบทวน 'อีอีซี'

นายสมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) เปิดเผยว่า กลุ่มฯ ได้รวบรวมความเห็นของเครือข่ายประชาชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อนำเสนอให้กับพรรคการเมืองต่างๆ สำหรับกำหนดนโยบายหลังการเลือกตั้ง โดยที่ผ่านมาได้มีการเสนอความเห็นให้กับหลายพรรคการเมืองผ่านเวทีต่างๆ เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน ซึ่งแต่ละพรรคให้น้ำหนักกับข้อเสนอที่แตกต่างกันออกไป

เสนอทำรายงาน“เอสอีเอ”

นายสมนึก กล่าวว่า เครือข่ายประชาชนต้องการให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งทบทวนนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เนื่องจากนโยบายนี้ไม่ผ่านการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันที่อยู่ในช่วงรอยต่อการเลือกตั้งจึงควรชะลอโครงการต่างๆ และให้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งมาพิจารณาทบทวนการพัฒนา เพราะเห็นสัญญาณรัฐบาลเร่งประมูลโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี เพื่อให้ได้ผู้ชนะประมูลในเดือน เม.ย.นี้ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบัง

ทั้งนี้ กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้รวบรวมความเห็นภาคประชาชนเกี่ยวกับการจัดทำเอสอีเอ โดยโครงการในอีอีซีเน้นเฉพาะการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (ไออีอี) การศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือการศึกษาและจัดทำรายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ซึ่งไม่ได้ดูทางเลือกอื่นและเป็นการกระทำที่สวนทางกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

ยุติความขัดแย้งการพัฒนา

สำหรับเอสอีเอ จะเครื่องมือที่ใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการพัฒนาแบบยั่งยืนให้เกิดขึ้นจากทุกโครงการพัฒนา ซึ่งทำได้ตั้งแต่นโยบาย แผน แผนงาน โครงการ และการปฏิบัติการอย่างยั่งยืนสำหรับโครงการที่จะพัฒนาขึ้น โดยเอสอีเอจะนำเสนอผลกระทบสะสมพร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขผลกระทบที่คาดคะเนไว้ทั้งแบบระยะสั้นและแบบระยะยาว รวมทั้งการทำเอสอีเอยังจัดเป็นการวิเคราะห์และประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมและระบบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ทำการศึกษา เพื่อการรองรับการพัฒนานโยบาย แผน แผนงาน และโครงการ

นอกจากนี้ เอสอีเอจะเป็นทางออกของความขัดแย้ง เน้นการสร้างการเปรียบเทียบทางเลือกในการตัดสินใจ เพื่อให้การตัดสินใจนั้นมีคุณภาพ รอบคอบ โปร่งใส และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เน้นการดำเนินการก่อนขั้นตอนการพัฒนา โดยสามารถช่วยในการตัดสินใจว่า นโยบาย แผน แผนงาน และโครงการขนาดใหญ่ลักษณะใดเหมาะสมกับพื้นที่

ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการและหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นหลายแห่ง ได้ร่วมกันเรียกร้องไปยังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ (กพอ.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ (สกพอ.) ให้มีการศึกษาเอสอีเอก่อนการประกาศเขตพัฒนาอีอีซีหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและเมืองใหม่ รวมถึงผังเมืองรวมใหม่ของอีอีซี แต่ไม่เคยได้รับการตอบสนองมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งการประกาศให้เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม 25 เขต ขาดการศึกษาเอสอีเอและขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่

ชงพรรคการเมือง4ข้อเสนอ

สำหรับ ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อพรรคการเมือง เพื่อนำไปปรับปรุงมี 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2560 พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พ.ศ.2560 และรวมถึงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 เป็นกฎหมายสำคัญที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้โครงสร้างเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นโยบายการพัฒนาอีอีซี กฎหมายส่งเสริมการลงทุนและคำสั่ง คสช.ทำให้เกิดขั้นตอนอีอีซี ฟาสต์ แทรค ซึ่งเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้เสียภาษี รวมทั้งธุรกิจเอสเอ็มอีกลับไม่ได้ประโยชน์จากอีอีซี

2.นโยบายหรือกฎหมายด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาฉบับอื่นต้องไม่มีอำนาจเหนือกฎหมาย โดยเฉพาะในด้านมนุษยธรรมและด้านสังคม ซึ่งปัจจุบันไทยนำนโยบายและกฎหมายด้านเศรษฐกิจขึ้นนำหน้านโยบายด้านอื่น โดยผลประโยชน์ตกกับแก่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ดังนั้นรัฐไม่ควรนำกฎหมายเศรษฐกิจและการพัฒนาเข้ามามีอำนาจเหนือหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) แล้วภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ด้าน (17 SDGs) แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามอย่างจริงจัง

จี้รอรัฐบาลใหม่เคาะลงทุนอีอีซี

3.ยกเลิกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐบาลเฉพาะกาลในปัจจุบันควรมีบทบาทสำคัญ คือ การดูความสงบเรียบร้อยของประเทศเป็นหลักใหญ่ ไม่ควรมาออกกฎหมายและนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประชาชนได้รับผลกระทบอีก และควรรอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มาทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแทน

4.ภาคประชาชนทุกคน รวมถึงพรรคการเมืองที่ถือเป็นกระบอกเสียงของประชาชนในพื้นที่อีอีซี พื้นที่ภาคตะวันออกและทุกภาคทั่วประเทศ ต้องช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลชุดรักษาการระงับโครงการพัฒนาอีอีซี รวมถึงระงับการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอีอีซีทันที