เอ็นไอเอดัน‘ทราเวลเทค’ ผสานท่องเที่ยว-นวัตกรรม

เอ็นไอเอดัน‘ทราเวลเทค’ ผสานท่องเที่ยว-นวัตกรรม

แอพพลิเคชั่นเรียกรถตุ๊กตุ๊กนำเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสิทร์ในชื่อ “ตุ๊กตุ๊กฮอป” และ “ทริปพอยด์ส” แอพพลิเคชั่นจัดทริปเที่ยวในจังหวัด 12 เมืองรอง เป็น 2 ใน 5 กิจการสตาร์ทอัพที่ได้รับสนับสนุนตามแผนงาน “นวัตกรรมการท่องเที่ยว” จากเอ็นไอเอ

นวัตกรรมการท่องเที่ยว หรือ Traveltech Innovation เป็นอีกหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมและธุรกิจเป้าหมาย ภายใต้โครงการนวัตกรรมมุ่งเป้าที่เอ็นไอเอให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นธุรกิจภาคบริการที่ขยายตัวสูงและมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ในปี 2560 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 2.756 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 1.824 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 35.38 ล้านคน และ 0.93 ล้านล้านบาทจากนักท่องเที่ยวในประเทศ (ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว)

หนุนอุตฯ ท่องเที่ยวไทย

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมฯ กล่าวว่า นอกจากจะสร้างรายได้เป็นอันดับ 1 ของการค้าบริการรวมของประเทศแล้ว อุตฯ ท่องเที่ยวยังก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกมากมาย อาทิ โรงแรมและที่พัก ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของที่ระลึก การคมนาคมขนส่ง เป็นต้น ก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

ยกตัวอย่าง ตุ๊กตุ๊กฮอป (Tuk Tuk Hop) บริการรถตุ๊กตุ๊ก Hop-on Hop-off แบบออนดีมานด์ให้บริการ รถตุ๊กตุ๊กที่เป็นเครือข่ายใน 60 จุดท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ เพื่อให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างที่ต่างๆ มีความสะดวก สามารถขึ้นรถไว้ตามจุดที่ให้บริการทั้งหมด สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักที่ใช้บริการจะเป็นนักท่องเที่ยวใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น

ทริปพอยด์ส (Trippointz) แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนช่วยในการวางแผนท่องเที่ยวแบบครบวงจร ที่รวมข้อมูลที่มีอยู่ในระบบมาจัดตามแผนการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ที่พักและแชร์ทริปที่จัดไปชวนเพื่อนมาเที่ยวด้วยกันได้ รวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ใช้แอพพลิเคชั่นจัดทริปเที่ยวในจังหวัด 12 เมืองรองต้องห้ามพลาด

“โครงการข้างต้น เป็น 2 ใน 5 โครงการที่ เอ็นไอเอผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมการท่องเที่ยวและบริการปี 2561 ใน 3 หัวข้อ คือ ระบบขนส่งมวลชนและเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยว, ธุรกิจท่องเที่ยวไทยและบริการแบบไร้เงินสด และระบบเตือนภัย การช่วยเหลือฉุกเฉิน และบริการทางการแพทย์สำหรับนักท่องเที่ยว รวมเป็นวงเงินสนับสนุน 10.73 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 90.88 ล้านบาท” อุกฤช กิจศิริเจริญชัย ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม เอ็นไอเอ กล่าว

จากปี 2561 ที่เน้นเทคโนโลยีเป็นหลักในการจัดการการท่องเที่ยว สำหรับปี 2562 เน้นการส่งเสริมและยกระดับการเติบโตธุรกิจนวัตกรรมท่องเที่ยวใน 3 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Culture Tourism) ศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม, การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tourism) เรียนรู้วิถีเกษตรกรรม และการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ (Health/Wellness Tourism) เยี่ยมชมสถานที่สวยงามในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หรือทำกิจกรรมส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ

ทุ่ม 15 ล้านตอบโจทย์เอกชน

“ปี 2562 เราตั้งเป้าสนับสนุนอย่างน้อย 3 โครงการในวงเงินกว่า 15 ล้านบาท พร้อมเปลี่ยนโจทย์การท่องเที่ยวเป็นแกนที่จะเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งมองว่า จะช่วยตอบความต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีตื่นตัวมาก แต่ไม่รู้จะเริ่มทำอะไร อย่างไร”

อุกฤช กล่าวว่า หากมองโมเดลนวัตกรรมการท่องเที่ยวที่เห็นได้ชัดคือ สก๊อตแลนด์ที่มีทิศทางการท่องเที่ยวไม่ได้มุ่งแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นการท่องเที่ยวแบบผสมผสาน ทั้งเชิงวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นปราสาท ปี่สก๊อต ฯลฯ กับไนท์ไลฟ์ เช่น โรงเบียร์ โรงวิสกี้ รวมถึงธรรมชาติต่างๆ โดยพัฒนาระบบการจัดการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีทันสมัย โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาครัฐ ซึ่งไทยสามารถนำมาเป็นต้นแบบประยุกต์ใช้ได้ในบางส่วน ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละท้องถิ่น

นอกจากนี้ เอ็นไอเอยังร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า มหาวิทยาลัยนเรศวร และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรมประกวดภาพถ่ายนวัตกรรมในธีม นวัตกรรมการท่องเที่ยว : Traveltech Innovation แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การถ่ายภาพโดยใช้โดรน (อากาศยานไร้คนขับ) และการถ่ายภาพโดยใช้กล้อง ทั้ง DSLR กล้องดิจิทัล กล้องบรรจุฟิล์ม หรือการบันทึกภาพด้วยเครื่องมือหรือวิธีการอื่นๆ