ปตท.ลุยอีอีซีไอ4.1พันล้าน

ปตท.ลุยอีอีซีไอ4.1พันล้าน

กลุ่ม ปตท.จัดงบลงทุนอีอีซี 5 ปี 2.64 แสนล้านบาท ขับเคลื่อน 11 โครงการใหญ่ ทยอยเสร็จปี 63-66 เข็นอีอีซีไอ 4.1 พันล้านบาท รองรับวิจัยพัฒนา สร้างนวัตกรรมหนุนเกษตรสมัยใหม่-เคมีชีวภาพ มอบ “พีทีทีจีซี” หัวหอกต่อยอดปิโตรเคมีสร้างมูลค่าเพิ่ม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) วันนี้ (27 ก.พ.) เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตบุคลากรของสถาบันวิทยสิริเมธี โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โรงงานผลิตไอออนแบตเตอรี่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีไอ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาอีอีซีไอ โดยจะเน้นในอุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลการเกษตร การทำเกษตรสมัยใหม่ และเคมีชีวภาพ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีทำการวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่

ปตท.ลุยอีอีซีไอ4.1พันล้าน

สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ส่วน สวทช.ออกแบบกลุ่มอาคารอีอีซีไอ ระยะที่ 1A โดยจะเริ่มก่อสร้างเดือน ก.พ.นี้ รวมทั้ง ปตท.ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินวังจันทร์วัลเลย์ 153 ไร่ ที่ยังประกาศเป็นเขตส่งเสริมไม่ครบถ้วน ทำให้อีอีซีไอมีเนื้อที่รวม 3,455 ไร่

เตรียมลงทุนอีอีซีไอเฟส2

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ปตท.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2562 อนุมัติลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีไอวงเงิน 2,500 ล้านบาท ซึ่งจะการก่อสร้างอาคาร รองรับบุคลากร นักเรียน นักศึกษา และอาจารย์ เข้าไปใช้พื้นที่เพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีรวมถึงนวัตกรรมใหม่ โดยเบื้องต้นมี สวทช.และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มีกำหนดเวลาที่จะเข้าไปใช้พื้นที่แล้ว และมีแผนที่จะลงทุนเฟสที่ 2

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ให้ความสำคัญกับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเตรียมงบลงทุนราว 2.64 แสนล้านบาท เพื่อลงทุน 11 โครงการ ซึ่งทยอยลงทุนและจะแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2563-2566 ประกอบด้วย 1.โครงการอีอีซีไอพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง วงเงินลงทุน 4,100 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในปี 2563 และมีแผนจะขยายการลงทุนระยะที่ 2 เพิ่มเติม 2.โครงการท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 มูลค่า 17,207 ล้านบาท จะเสร็จปี 2564

3.โครงการขยายท่อส่งก๊าซไปยังพื้นที่อีอีซีไอ มูลค่า 727 ล้านบาท 4.โครงการคลังเก็บความเย็น มูลค่า 219 ล้านบาท 5.โครงการก่อสร้างคลังแอลเอ็นจี มูลค่า 31,912 ล้านบาท 6.โครงการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์ ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มูลค่า 14,400 ล้านบาท

7.โครงการ Propylene Oxide (PO)/Polyols ของพีทีทีจีซี 15,500 ล้านบาท 8.โครงการพลังงานสะอาด (CFP) เพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันของบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 1.29 แสนล้านบาท 9.โครงการปรับปรุงท่าเรือ ของไทยออยล์ มูลค่า 2,328 ล้านบาท 10.โครงการ Utra Clean Fuel Project เพื่อรองรับการประกาศใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ของไออาร์พีซี มูลค่า 7,890 ล้านบาท 11.โครงการก่อสร้างโรงงานพาราไซลีน ของไออาร์พีซี มูลค่า 41,200 ล้านบาท

เห็นผลตอบแทนลงทุนปี 66

“เชื่อมั่นว่าเม็ดเงินลงทุนของกลุ่ม ปตท. 2.64 แสนล้านบาท จะสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 2566 แต่จะเป็นระดับใดนั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะเข้ามาควบคุมอัตราค่าบริการผ่านท่อก๊าซด้วย” นายชาญศิลป์ กล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ปตท.ยังพิจารณารายละเอียดโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 รวมถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้รอบคอบ โดยเฉพาะความเสี่ยงเรื่องของพันธมิตรร่วมลงทุน ก่อนเสนอคณะกรรมการ ปตท. เพื่อพิจารณาว่าจะเข้าร่วมการประมูลหรือไม่

“พีทีทีจีซี”ลงทุน1.5แสนล้าน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี กล่าวว่า บริษัทใช้เม็ดเงินลงทุนในอีอีซีช่วง 3-4 ปีข้างหน้าแล้ว 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้กลุ่มบริษัท กลายเป็นผู้บุกเบิกการลงทุนในพื้นที่ตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐ และการเป็นนักลงทุนรายใหญ่ใน จ.ระยอง

โดยในต้นปี 2561 ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการส่วนขยายปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษในอีอีซี 3 โครงการ คือ 1.โครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ โดยใช้แนฟทา และก๊าซแอลพีจีเป็นวัตถุดิบหลัก มีกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตันต่อปี กำชังผลิตโพรพิลีน 250,000 ตันต่อปี และ Mixed C4 130,000 ตันต่อปี มูลค่าลงทุนราว 3.6 หมื่นล้านบาท จะเริ่มผลิตภายในปี 2563
2.โครงการผลิตสารโพรพิลีน ออกไซด์ 3.โครงการผลิตสารโพลีออลส์ เป็นโครงการในสายโพลียูริเทน ในกลุ่มเคมีภัณฑ์สมรรถนะสูงที่เป็นการต่อสายธุรกิจผลิตภัณฑ์โพลียูรีเทนครบวงจร เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดมากขึ้น เช่น ยานยนต์ ก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ทั้ง 2 โครงการมีมูลค่าลงทุนรวม 3.2 หมื่นล้านบาทคาดว่าจะเริ่มผลิตในปี 2563

ลงทุนโรงงานรีไซเคิลพลาสติก

นอกจากนี้ บริษัท เตรียมเสนอคณะกรรมการพีทีทีจีซี อนุมัติก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลพลาสติกแบบครบวงจรระดับสากล ขนาด 4 หมื่นตันต่อปี มูลค่า 2,000 ล้านบาท ในอีอีซี ซึ่งมีพันธมิตรแล้ว 1 รายจากยุโรป โดยจะนำขยะพลาสติกมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกอีกครั้ง เพื่อนำไปให้ผู้ประกอบการรายอื่นผลิตใหม่ เช่น เสื้อ ขวดน้ำ และหากได้รับอนุมัติก่อสร้างโรงงานดังกล่าวคาดว่าใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน หรือปลายปี 2563 จะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ และเป็นโรงงานรีไซเคิลพลาสติกแบบครบวงจรแห่งแรกในไทย

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท จะใช้เงินลงทุนในช่วง 4 ปี (2562-2565) อยู่ที่ 5.1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่เป็นการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.7 แสนบาร์เรลต่อวัน แล้วเสร็จในปี 2565