ยูเอวีบริการสำรวจ ท๊อปฯชิงแชร์ต่างชาติ

ยูเอวีบริการสำรวจ ท๊อปฯชิงแชร์ต่างชาติ

สตาร์ทอัพดีพเทคสานต่อความชอบส่วนตัวสู่ธุรกิจอากาศยานไร้คนขับหรือยูเอวี เปิดบริการสำรวจพื้นที่ จับกลุ่มลูกค้าภาครัฐ-เอกชน ตั้งเป้าผู้นำตลาดยูเอวีสำหรับระบบแผนที่ในไทย หวังระดมทุน 3 พันล้านต่อยอดนวัตกรรมไทยสู้เทคโนโลยีโลก

จากความชอบเครื่องบินเล็กและอากาศยานไร้คนขับ “กรณรงค์ ถึงฝั่ง” เดินหน้าสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ จับมือสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) และกองทัพเรือ วิจัยพัฒนาอากาศยานไร้คนขับแบบอัตโนมัติหรือ “ฟูเว็ก” ในปี 2558

ฟูเว็ก (Fuvec : Fixed-wing Unmanned aerial vehicle with Vertical takeoff and landing Enabled Capability) มีขนาดใหญ่ที่สุด 4.5 เมตร อยู่ในอากาศได้ 4.30 ชั่วโมง ระดับเพดานบินสูงสุด 2,000 เมตร ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเร็วขับเคลื่อน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีทั้งเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันและใช้ไฟฟ้า มีฟังก์ชั่นระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูง พร้อมระบบกล้องดิจิทัลความละเอียดสูง

เพื่อการสำรวจและทำแผนที่

กรณรงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท๊อป เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ทีมงานได้พัฒนาปรับลดขนาดฟูเว็กเพื่อเพิ่มโอกาสต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมพัฒนาระบบการถ่ายภาพทำแผนที่ให้มีความคมชัดลำหรับภาพที่มีความละเอียดสูง

ก่อนหน้านี้ บริษัทได้พัฒนายูเอวีแบบขึ้นลงแนวดิ่งมาแล้ว 2 รุ่น คือ รุ่นแรกชื่อ พีเจี้ยน (Pigeon) เป็นยูเอวีเล็กขนาด 1.8 เมตร ราคาเริ่มต้นที่ 6 ล้านบาท พร้อมซอฟต์แวร์สำหรับงานที่มีข้อกำหนดเฉพาะหรืองานในพื้นที่และความสูงที่ถูกจำกัด ถัดมาชื่อรุ่น ฟอลคอน (Falcon) มีขนาดปีกใหญ่ขึ้นแต่น้ำหนักเบา ทำให้ประหยัดและมีศักยภาพมากขึ้น เหมาะกับงานด้านแผนที่ งานลาดตระเวน จุดเด่นของฟอลคอนคือ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่มีความเงียบ และล่าสุดคือ ฟูเว็ก

ท๊อปเอ็นจิเนียริ่งฯ เป็น 1 ใน 2 เอกชนไทยที่ทำตลาดเรื่องของยูเอวีสำหรับระบบแผนที่ในไทย ขณะที่คู่แข่งหลักในตลาดล้วนแล้วแต่เป็นเทคโนโลยีต่างประเทศ อย่างไรก็ดี จุดเด่นของบริษัทคือ การบินระบบอัตโนมัติและการบินขึ้นลงแนวดิ่ง ทำให้สามารถใช้งานได้หลากหลายสถานที่ โดยไม่ต้องใช้รันเวย์

“ธุรกิจเรามี 2 ส่วนคือ จำหน่ายอากาศยานไร้คนขับพร้อมโปรแกรมและการดูแลหลังการขาย และให้บริการถ่ายภาพเพื่อทำระบบแผนที่ โดยมีลูกค้ารายแรกคือ กรมชลประทานที่ซื้อไป 2 เครื่อง เพื่อสำรวจแหล่งน้ำ และสำรวจพื้นที่สำหรับการวางแผนบริหารจัดการเขื่อน”

หลังจากนั้นจึงเดินหน้าเข้าร่วมโครงการกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ เพื่อต่อยอดพัฒนาระบบแผนที่สำหรับสำรวจแหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็มีลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการคือ ปตท. ในการทดสอบใช้อากาศยานไร้คนขับสำรวจแนวท่อก๊าซหลัก 1,900 กิโลเมตรทั่วประเทศ

“เดิม ปตท. ใช้เฮลิคอปเตอร์พร้อมบุคลากร 3 คนคือ นักบิน เนวิเกเตอร์และช่างภาพ ทำงานร่วมกัน ซึ่งในบางครั้งก็เกินวิสัยตาของมนุษย์ ในขณะที่อากาศยานไร้คนขับนั้นสามารถใส่โปรแกรมตั้งไว้ให้บินตาม เส้นทางหรือระยะเวลาที่กำหนด เพื่อถ่ายภาพทำแผนที่ โดยภาพความละเอียดสูงจะถูกส่งกลับมาที่สถานีภาคพื้น ทำให้สามารถเห็นทั้งแนวท่อก๊าซ รวมถึงการลุกล้ำตามแนวท่อก๊าซได้”

ตั้งเป้าลุยตลาดโลก

กรณรงค์ กล่าวว่า นวัตกรรมที่ท๊อปเอ็นจิเนียริ่งฯ มี ต่างประเทศก็มีเช่นกัน แต่โอกาสที่จะแข่งขันได้ในตลาดโลกคือ การยืดหยุ่นได้ตามงบประมาณ การบินขึ้นลงทางดิ่ง ระยะเวลาบินที่นานกว่า และบริการหลังการขาย ในขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างจุดแข็งเพิ่มขึ้น

มูลค่าตลาดยูเอวีสำหรับระบบแผนที่ในไทย มีอยู่ราว 400 ล้านบาท เทคโนโลยีของไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 10% เท่านั้น จึงต้องการที่จะเป็นผู้นำตลาดนี้ในไทย โดยต้องเพิ่มทั้งพื้นที่การบิน ความละเอียดและความแม่นยำในการถ่ายภาพ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาซอฟต์แวร์การวิเคราะห์พื้นที่

“อุปสรรคหลักคือ การขาดเงินทุนที่จะทำให้เราพัฒนาแบบก้าวกระโดด เพราะแม้จะพัฒนาตัวเครื่องได้ แต่ยังต้องดำเนินการทดสอบและยื่นของมาตรฐานต่างๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เงินก้อนโตจากนักลงทุน โดยต้องการราว 3 พันล้านบาทภายใน 2 ปีเพื่อทำให้ยูเอวีสามารถออกสู่ตลาดโลกได้” กรณรงค์ กล่าว

สำหรับปี 2562 บริษัทตั้งเป้าขายยูเอวีอีก 2 เครื่อง ขณะเดียวกัน ลูกค้าที่ใช้บริการก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ จึงคาดว่ารายได้จะเพิ่มเป็นเท่าตัวในปีนี้