'กัลฟ์' ลั่นปีนี้รายได้แตะ 3.3 หมื่นล้าน

'กัลฟ์' ลั่นปีนี้รายได้แตะ 3.3 หมื่นล้าน

"กัลฟ์" คาดปี 2562 รายได้แตะ 3.3 หมื่นล้านบาท เตรียมจ่ายไฟเข้าระบบ 638 เมกะวัตต์

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า บริษัทประเมินรายได้ปีนี้ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 61 ที่มีรายได้รวมจากการดำเนินธุรกิจ 2 หมื่นล้านบาท หลังในปีนี้บริษัทมีแผนเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้า 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 638 เมกะวัตต์ (MW)

โดยแบ่งเป็นโครงการในไทย 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 519 เมกะวัตต์ ปัจจุบันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว 1 โครงการในช่วงเดือนม.ค.2562 คือโครงการโรงไฟฟ้า GNLL2 จังหวัดระยอง ขนาดกำลังการผลิต 126 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างคือโครงการ GNPM ขนาด 135 เมกะวัตต์,โครงการ GNRV1 ขนาด 128 เมกะวัตต์ และ โครงการ GNRV2 ขนาด 128 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะสามารถ COD ได้ในเดือนมี.ค.62, พ.ค.62 และ ก.ค.62 ตามลำดับ

ส่วนที่เหลืออีก 2 โครงการ เป็นโครงการการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม กำลังการผลิตรวม 119 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ TTCIZ-01 กำลังการผลิต 69 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในช่วงเดือนมี.ค.2562 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ TTCIZ-02 กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในช่วงเดือนพ.ค.2562

ทั้งนี้ บริษัทมีการร่วมลงทุนกลุ่ม TTC ในเวียดนาม ทั้งหมดรวม 4 โครงการ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 3 โครงการ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล 1 โครงการ กำลังการผลิตรวมทั้งหมด 460 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 245 เมกะวัตต์ ใช้งบลงทุนรวม 766 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรเพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป.ลาว โดยคาดว่าจะเป็นโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตมากกว่า 1 พันเมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปภายในปี 62
นอกจากนี้บริษัทมีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในประเทศโอมาน กำลังการผลิตรวม 326 เมกะวัตต์ พร้อมขายน้ำจืด 1,667 ลูกบาศเมตร/ชั่วโมงให้โรงกลั่นขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทร่วมลงทุนกับพันธมิตร โดยเข้าถือหุ้น 45% ใช้งบประมาณการลงทุนราว 483 ล้านดอลลาร์ มีสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) เป็นเวลา 25 ปี โดยคาดว่าจะทยอย COD ในปี 2563 ถึงปี 2565 อย่างไรก็ดีบริษัทยังมองหาโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติม จากเห็นแนวโน้มการลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต

ส่วนภายในประเทศ บริษัทยังมีโอกาสการลงทุนได้อีกมาก จากภาครัฐมีการประกาศแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวฉบับใหม่ (PDP2018) ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมเข้าลงทุนมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้ากำลังการผลิตรวม 8.3 พันเมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีความพร้อมในการเข้าลงทุน

น.ส.ยุพาพิน กล่าวอีกว่า บริษัทคาดว่าในปี 2567 รายได้จะเติบโตได้แตะ 1-1.3 แสนล้านบาท จากการ COD โรงไฟฟ้าทั้งหมดตามแผน 33 โครงการ ทำให้มีกำลังการผลิตรวมทั้งหมดที่ 11,910 เมกะวัตต์ หรือคิดตามสัดส่วนการถือหุ้น 6,721 เมกะวัตต์ โดยบริษัทวางงบลงทุน 5 ปี (62-66) จำนวนราว 1.4 แสนล้านบาท สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP)

นอกจากนี้บริษัทได้ยื่นซองเสนอโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่ 1) ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยร่วมกับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) โดยร่วมกันถือหุ้นในสัดส่วน 70% และ 30% ในการขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ เพื่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) มูลค่า 5.54 หมื่นล้านบาท รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซฯได้ 10 ล้านตัน/ปี สอดคล้องกับการมุ่งเน้นสู่การขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติ