อีอีซี บูมธุรกิจขนส่ง ตั้งบริษัทใหม่โต5%

อีอีซี บูมธุรกิจขนส่ง ตั้งบริษัทใหม่โต5%

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยบริษัทตั้งใหม่เดือนแรกปีนี้ทะลุ7.3 พันราย ทำสถิติสูงสุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่รับจดทะเบียนมา ชี้ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ามาแรง ทำยอดสถิติจดเพิ่มขึ้นติด 1 ใน 3 เป็นผลจากค้าออนไลน์พุ่งขณะที่ธุรกิจเกิดใหม่ในอีอีซีและเอสอีซีแรงต่อ

บริษัทตั้งใหม่ม.ค.เพิ่ม5% 

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศในเดือนม.ค.2562 มีจำนวน 7,311 ราย เพิ่มขึ้น 78% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2561ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน 

ประเภทธุรกิจที่ตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปยังคงเป็นอันดับ 1 มีจำนวน 620 ราย  ตามด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 386 รายซึ่งยังคงขยายตัวตามการลงทุนและการเติบโตของเมือง และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 184 ราย ซึ่งเป็นประเภทธุรกิจที่ขยับขึ้นมาติดอันดับ 3 เป็นครั้งแรก แซงธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการค้าออนไลน์

อีอีซี บูมธุรกิจขนส่ง ตั้งบริษัทใหม่โต5%

ธุรกิจขนส่งในอีอีซีโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จำนวนบริษัทจดทะเบียนใหม่ที่ 7,311 ราย นี้ถือว่าเป็นจำนวนสูงสุดลำดับที่ 2 นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ การขยายตัวของโครงการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้มีความมั่นใจในการลงทุนทำธุรกิจเพิ่มขึ้น 

“พบว่าการจัดตั้งบริษัทในพื้นที่โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)  ในจ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีมากขึ้นถึง 5%เพื่อรองรับกับการเติบโตของอีอีซีโดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจขนถ่ายสินค้า ค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจขนส่ง โดยเฉพาะจ.ฉะเชิงเทราสูงถึง 51%”

สอดคล้องกับ การแบ่งขนาดธุรกิจในอีอีซีพบว่า ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ สัดส่วนถึง 61.15% รองลงมา ขายส่ง/ปลีก 23.64% และการผลิต 15.21%  โดยพื้นที่อีอีซีมีนิติบุคคลคงอยู่จำนวน 67,446 ราย แบ่งเป็นพื้นที่จำนวนธุรกิจมากที่สุดคือ ชลบุรี จำนวน 49,427 ราย ระยอง 12,758 ราย และ ฉะเชิงเทรา 5,261 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 1.85 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ สัดส่วน 38.09% มูลค่า 7.04 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จากญี่ปุ่น 51.10% มูลค่า 3.6 แสนล้านบาท รองลงมา สิงคโปร์ 8.81% มูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาท จีน สัดส่วน 7.45% มูลค่า 5.2 หมื่นล้านบาท และประเทศอื่นๆ สัดส่วน 25.66% มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท 

มูลค่าธุรกิจในอีอีซีเพิ่มเท่าตัว

โดยอัตราการเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่อีอีซี ของม.ค.2562 จำนวน 689 ราย เพิ่มขึ้น 30 ราย หรือ 4.55% อย่างไรก็ตาม พบว่า มูลค่าทุนจดทะเบียนในพื่้นที่อีอีซี เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดย ม.ค. 2562 มีมูลค่า 2,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122% จากม.ค. 2561 ซึ่งมีมูลค่า 1,201 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 1,468 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนมูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ภาพรวมทั่วประเทศพบว่ามีอัตราขยายตัวลดลงสวนทางกับในพื้นที่อีอีซี โดยในเดือนม.ค.2562  มูลค่ารวม 17,693 ล้านบาท ลดลง 54% เทียบกับเดือนธ.ค.2561  และ ลดลง 1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน 

นายวุฒิไกร กล่าวว่า สำหรับบริษัทเลิกกิจการในเดือนม.ค.2562 มีจำนวน 1,401 ราย ลดลง 75%เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2561 แต่เพิ่มขึ้น 4%เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยธุรกิจที่เลิกกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 150 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำนวน 75 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 44 ราย

จับตาปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกผันผวน

ส่วนแนวโน้มการจดตั้งบริษัทใหม่ในปี2562 กรมฯ คาดการณ์ยอดการจดทะเบียนใกล้เคียงกับปี2561 ที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 70,000 ราย จากปัจจัยสนับสนุน คือ เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โครงการลงทุนภาครัฐขยายตัว การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง ทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ ความชัดเจนทางการเมือง ที่มีผลต่อการจัดตั้งธุรกิจใหม่ด้วย

เอกชนชี้อีอีซีหนุนโลจิสติกส์โต

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และประธานกรรมการบริษัทในเครือวี-เซิร์ฟ กรุ๊ป กล่าวว่า การที่ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจขนถ่ายสินค้า มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น ก็เป็นตามการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการนำเข้า-ส่งออก ซึ่งปัจจุบันการขนส่งผ่านตู้คอนเทรนเนอร์ที่ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพมีจำนวนมากอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่ธุรกิจประเภทนี้จะมีการเติบโตตาม ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตในเขตพื้นที่อีอีซี

ส่วนการเติบโตด้านการขนส่ง โลจิสติกส์มาก ในภาพรวมเป็นผลจากธุรกิจด้านออนไลน์ที่กำลังเป็นเทรนด์ด้านการค้าก็ต้องอาศัยธุรกิจขนส่งขนถ่ายสินค้า ซึ่งปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้รถคอนเทรนเนอร์ขนาดใหญ่ เพราะเราจะเห็นว่ามีการใช้รถตู้ขนาดเล็กในการขนส่งสินค้ามากขึ้น ทั้งส่งให้ผู้บริโภคหรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่

“ธุรกิจประเภทนี้แม้จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า การแข่งขันก็สูงและมีความรุนแรง มีทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจประเภทนี้ บางบริษัทก็มีต้นทุนสูงมาก สายป่านยาว ทำให้ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง”

คาดว่าธุรกิจประเภทนี้ก็ยังมีการเติบโตอยู่ ประมาณ 10%ในแต่ละปี ซึ่งเป็นตามแนวโน้มของเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้ามาดูแลผู้ประกอบการคนไทยให้สามารถที่จะยืนอยู่ได้ เนื่องจากธุรกิจนี้จะเป็นจำพวกทำแล้วเหนื่อยมากแต่กำไรน้อย