เผยรัฐบาลสหรัฐยุค“ทรัมป์”แบก‘หนี้ท่วม’

เผยรัฐบาลสหรัฐยุค“ทรัมป์”แบก‘หนี้ท่วม’

หนี้สาธารณะสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์พุ่งทำสถิติใหม่ ทะลุ 22 ล้านล้านดอลลาร์ สูงกว่าจีดีพีประเทศ แต่พรรครีพับลิกันที่เคยคัดค้านหนี้และการขาดดุลมาโดยตลอดคราวนี้กลับปิดปากเงียบ

สำนักงบประมาณสภาคองเกรส (ซีบีโอ) รายงานว่า ยอดรวมหนี้สาธารณะสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะ 22 ล้านล้านดอลลาร์ โดยตอนที่เขาเข้ามารับตำแหน่งในทำเนียบขาว ยอดหนี้สาธารณะที่กู้ยืมมาแก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง ผนวกกับดอกเบี้ยชำระหนี้เพิ่มขึ้นทุกที สูงถึง 19.95 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว เท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2เทียบกับหนี้สาธารณะฝรั่งเศส ที่เท่ากับจีดีพีประเทศเหมือนกัน เมื่อปลายเดือน ก.ย.เกิน 2.6 ล้านล้านดอลลาร์เล็กน้อย

การลดภาษีนิติบุคคลขนานใหญ่ของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อสิ้นปี 2560 รวมถึงการทุ่มใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะงบกลาโหม ทำให้สหรัฐ  ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น

ทรัมป์  ชี้แจงเรื่องนี้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า หากสหรัฐไม่มีกองทัพแข็งแกร่ง ประชาชนก็ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ เพราะมีปัญหาใหญ่กว่าให้กังวล

ขณะที่รัฐบาลยังแก้ตัวต่อเนื่องเรื่องลดภาษี ที่คาดว่าจะทำให้ขาดดุลงบประมาณเพิ่ม 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีว่า ภาษีช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น

ซีบีโอ รายงานด้วยว่าแม้เศรษฐกิจโตเร็วขึ้น แต่ในปี 2561 สหรัฐขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น 17% มาอยู่ที่ 7.79 แสนล้านดอลลาร์ เลวร้ายสุดนับตั้งแต่ปี 2555 คาดว่าปีนี้จะขาดดุลต่อเนื่องไปอยู่ที่ 9 แสนล้านดอลลาร์

ก่อนหน้านี้  สหรัฐเคยเกินดุลงบประมาณเป็นเวลา 4 ปี สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตันจากพรรคเดโมแครต ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็ว แต่สงครามอิรักสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จากพรรครีพับลิกัน รัฐบาลกลางก็กลับมาขาดดุลงบประมาณอีกครั้ง

ถึงสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา จากพรรคเดโมแครตต้องจัดการกับผลพวงของวิกฤติการเงินโลก ปี 2551 จึงจำเป็นต้องทุ่มใช้จ่ายภาครัฐ ส่งผลให้งบประมาณรัฐบาลวอชิงตันย่ำแย่มาก จุดชนวนให้เกิดทีปาร์ตี้ กลุ่มการเมืองที่มีส่วนทำให้ทรัมป์ขึ้นสู่อำนาจ

ในช่วงปีท้ายๆ ของรัฐบาลโอบามาเศรษฐกิจฟื้นตัว อีกทั้งการเผชิญหน้ากันในสภาคองเกรสที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากได้ตัดงบประมาณภาครัฐ การขาดดุลงบประมาณจึงลดลง แต่ก็เริ่มพุ่งขึ้นอีกครั้งภายใต้รัฐบาลทรัมป์ หัวหอกจากรีพับลิกันเงียบเฉยกับเรื่องนี้

หากพิจารณาปัจจัยอื่นนอกเหนือจากประเด็นการเมืองต้องยอมรับว่าสหรัฐเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสธารณสุขและบำนาญ นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นสาเหตุหลักทำให้สหรัฐขาดุลต่อเนื่อง

เจอโรม พาวเวลประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวเสมอมาว่า เขาไม่ได้มีหน้าที่กำหนดนโยบายการคลัง “ใครๆ ก็รู้กันนานแล้วว่างบประมาณรัฐบาลกลางนั้นไม่ยั่งยืน ปัญหานี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข”

แน่นอนว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด 9 ครั้งในรอบ 4 ปี เป็นเหตุให้ต้นทุนหนี้สูงขึ้น และทรัมป์ก็วิจารณ์เฟดอยู่บ่อยๆ ว่าบ้าไปแล้ว เฟดเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจยิ่งกว่าจีนเสียอีก

เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ดอกเบี้ยหนี้สาธารณะรัฐบาลวอชิงตันเพิ่มขึ้นอีก 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560

นอกเหนือจากหนี้ภาครัฐอันเป็นผลจากดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่องจูงใจนักลงทุนทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยแล้ว หนี้ภาคเอกชนและหนี้เพื่อการบริโภคก็เพิ่มขึ้นจนน่ากังวลเช่นกัน โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  หนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ประกอบกับเฟดใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำหลังวิกฤติปี 2551 ขณะนี้หนี้ภาคเอกชนอยู่ที่ 9 ล้านล้านดอลลาร์ จนเฟดเรียกว่าเป็น “ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาค”

ส่วนหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ที่ 13.5 ล้านล้านดอลลาร์ เหนือกว่าจุดสูงสุดก่อนวิกฤติมาก3 ใน 4 เป็นสินเชื่อจำนองบ้านและ หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ขัดขวางการบริโภคของคนหนุ่มสาว ปีที่แล้วสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เกือบ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์

เช่นเดียวกับสินเชื่อรถยนต์ที่สูงทุบสถิติเช่นกัน เฉียด 1.3 ล้านล้านไปนิดเดียว ตอนนี้อัตราผิดนัดชำระหนี้พุ่งสูงขึ้นทุกทีถือเป็นสัญญาณเตือนสำคัญที่เฟดจะมองข้ามไม่ได้