กกต.จ่อฟัน12 พรรค แอบแก้ข้อมูลผู้สมัคร

กกต.จ่อฟัน12 พรรค แอบแก้ข้อมูลผู้สมัคร

กกต.จ่อฟัน 38 ผู้สมัครส.ส.แบ่งเขต- ปาร์ตี้ลิสต์ 2 ราย จาก12 พรรค หลังพบแอบแก้ไขข้อมูลในระบบฐานข้อมูลสมาชิก หวังให้มีคุณสมบัติครบ ผิดจริงส่อนอนคุก

เมื่อวันที่ 20 ก.พ.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ประกาศรายชื่อผู้สมัครส.ส.ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 389 ราย และในระบบบัญชีรายชื่อ 107 ราย เนื่องจากขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการไม่จัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการประจำจังหวัด การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองซ้ำซ้อน และสังกัดพรรคการเมืองไม่ครบ 90 วันนั้นโดยผู้สมัครอยู่ในระหว่างการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาของคืนสิทธิการเป็นผู้สมัคร ล่าสุดมีรายงานว่า สำนักงานกกต.ได้ตรวจสอบพบว่า ในจำนวนผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขต389 รายที่กกต.ไม่ประกาศรายชื่อนั้น มี 38 ราย ที่พรรคการเมืองต้นสังกัดของผู้สมัครได้เข้าไปแก้ไขระยะเวลาการเข้าเป็นสมาชิกพรรคของผู้สมัครตนในระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคหลังการปิดรับสมัครเพื่อให้ผู้สมัครของตนเป็นผู้มีคุณสมบัติและได้รับการประกาศชื่อ แยกเป็นของพรรค พรรคเพื่อแผ่นดิน 8 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 2 คน พรรคไทยศรีวิไลย์ 1 คน พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 4 คน พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล 1 คน พรรคประชาชนปฏิรูป 1 คน พรรคประชาธรรมไทย 1 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท 11 คน พรรคพลังปวงชนไทย 3 คน พรรคภารดรภาพ 1 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 4 คน และพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 1 คน

ขณะเดียวกันในส่วนผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่กกต.ไม่ประกาศรายชื่อ 107 คนนั้นในจำนวนนี้พบว่ามี 2 คนจาก พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่มีการเข้าไปแก้ไขข้อมูลย้อนหลังในระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมือง ทั้งนี้ตัวอย่างที่มีการแก้ไข และสำนักงาน กกต.ตรวจพบ เช่น ผู้สมัครรายหนึ่งของพรรคพลังปวงชนไทย มีชื่อในระบบฐานข้อมูลพรรคเดิมเป็นสมาชิกพรรควันที่ 22-01-2019 พบมีการแก้ไขเป็น 22-11-2018 และพบวันที่ทำเหตุการณ์แก้ไขข้อมูลในระบบฐานข้อมูลพรรคการเมือง 13 ก.พ.2019 เวลา 18:47:35

นอกจากนี้ ยังพบว่าอาจมีการฮั้วกันของพรรคการเมืองโดยเข้าไปแก้ไขข้อมูลการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเดิม และไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ เพื่อให้ไม่เป็นสมาชิกซ้ำซ้อนและมีระยะเวลาการสังกัดพรรคใหม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทางสำนักงานฯได้มีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งให้กับผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตใช้ในการชี้แจงสู้คดีต่อศาลฎีกา ขณะเดียวกันก็กำลังพิจารณาจะดำเนินการผิดกับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองในความผิดตามกฎหมายอาญา ฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารปลอม หรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ. ซึ่งหากพบว่ากระทำผิดจริงกฎหมายได้กำหนดโทษจำคุกไว้ด้วย