หวั่นโกลาหล 'ตั้งกรมการอุดมศึกษา'

หวั่นโกลาหล 'ตั้งกรมการอุดมศึกษา'

"หมออุดม" ผิดหวังตั้งกรมการอุดมศึกษา ชี้ผิดหลักที่ทำไว้ อุดมศึกษาลดบทบาทลง ระบุมหาวิทยาลัยไม่พอใจ ลั่นไม่เร่งทบทวน หวั่นโกลาหล ด้านทปอ.มทร. เตรียมยื่นหนังสือถึง กมธ.วิสามัญร่างพ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ทบทวนโครงสร้างดังกล่าว 21 ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 20 ก.พ.62 ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.) กล่าวถึงมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านวาระ 1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำหนดให้มีกรมการอุดมศึกษาภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ว่า ขณะนี้ทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กระทรวงอุดมศึกษาฯ และพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง ทบทวนในกรณีดังกล่าวแล้ว อีกทั้งยังทราบว่าทางที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปอ.มรภ.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) ก็จะเดินทางไปยื่นหนังสือให้มีการทบทวนเช่นกัน โดยส่วนตัวการปรับให้อุดมศึกษา เป็นกรมอุดมศึกษา ส่งผลให้เกิดความแข็งตัวตามระบบราชการ ไม่มีความคล่องตัว และจะลดบทบาทของอุดมศึกษาที่จะเป็นผู้นำ ถูกลดภาระงานของอุดมศึกษาเหลือแค่ 40%เท่านั้น และยังเกิดสภาวะคอขวดในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ซึ่งเห็นชัดว่าการที่จะมีกรมอุดมศึกษาไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

“กระทรวงอุดมศึกษาฯ ต้องการให้มีความคล่องตัว ซึ่งปัจจุบันโครงการสร้างของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ส่วนใหญ่เป็นองค์กรมหาชนเกือบทั้งหมด และจะไม่มีหน่วยงานที่เป็นราชการเลยยกเว้นสำนักงานปลัด วท. ฝั่งอุดมศึกษา ก็วางแผนที่จะส่งเสริมให้กลุ่ม มรภ.กลุ่ม มทร.และวิทยาลัยชุมชน (ววช.) เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับทั้งหมด ดังนั้นกระทรวงที่เกิดขึ้นใหม่ ตามโครงสร้างที่มีสำนักงานปลัดกระทรวงเป็นส่วนราชการ เพียงหน่วยงานเดียว จะทำให้การทำงานเปลี่ยนไป คือ ทุกหน่วยงานทำงานโดยมีคณะกรรมการดูแล การทำงานจะไม่ใช่เรื่องการบังคับบัญชา สำนักงานปลัดกระทรวงใหม่จะทำหน้าที่ประสานงาน สนับสนุนส่งเสริมให้แต่ละหน่วยงานทำงานบรรลุภารกิจให้ได้ ดังนั้น ความรู้สึกผมตอนนี้ คือ ผมรู้สึกผิดหวังที่กระทรวงใหม่จะไม่ใช่กระทรวงที่ยกระดับอุดมศึกษาให้แสดงบทบาทสำคัญ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ”รมช.ศธ.กล่าว

นพ.อุดม กล่าวต่อว่า หากไม่เร่งทบทวน และปล่อยไว้จะเกิดความโกลาหล ซึ่งทางฝั่งอุดมศึกษา บอกว่าถ้าเป็นแบบนี้ก็อยู่ที่เดิมดีกว่า ร่างพ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 26 ก.พ.ซึ่งถ้ามีการทบทวนต้องทำช่วงนี้ เพราะถ้าเข้าสู่การพิจารณา ก็จะพิจารณาตามที่ กมธ.วิสามัญเสนอมา

ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมทร. กล่าวว่าเมื่อทราบว่า สนช.ผ่านวาระ 1 ร่างพ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษาฯและให้มีกรมการอุดมศึกษา ขึ้นรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งได้มีการพูดคุยกับกลุ่มทปอ. และกลุ่มทปอ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ต่างก็คิดแบบเดียวกัน ทั้งนี้ ถ้ามีกรมการอุดมศึกษา ขึ้นมาจะกลายเป็นหนักกว่าเดิม มีแต่จะยุ่งขึ้นไปอีก การทำงานจะเป็นอีหรอบเดิมติดอยู่ในกรอบราชการ ไม่คล่องตัว แต่การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯใหม่ ภารกิจจะไม่ใช่แบบเดิมเพราะเราเน้นการพัฒนาพื้นฐานทางเทคโนโลยี โครงสร้างที่วางไว้มีคณะกรรมการ 2 ชุด สกอ.เป็นสำนักงานปลัด มีความเหมาะสมแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (21 ก.พ.) ในนาม ทปอ.มทร.จะไปยื่นหนังสือถึง กมธ.วิสามัญร่างพ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพื่อขอให้ทบทวนโครงสร้างดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ทราบว่าทาง ทปอ.มรภ.ก็จะมายื่นหนังสือเช่นเดียวกัน