ศาลสั่งส่งตัว 'ดิมิทรี' กลับสหรัฐฯ คดีปล่อยมัลแวร์ฉกเงินนับพันล้าน

ศาลสั่งส่งตัว 'ดิมิทรี' กลับสหรัฐฯ คดีปล่อยมัลแวร์ฉกเงินนับพันล้าน

ชี้ไม่ใช่ความผิดการเมือง ศาลสั่งส่งตัว “ดิมิทรี” หนุ่มรัสเซียกลับสหรัฐฯ คดีปล่อยมัลแวร์ฉกเงินหลายประเทศนับพันล้าน หลังให้รับโทษในไทยคดีฟอกเงินเสร็จ

ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน หมายเลขดำ อผ.5/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายดิมิทรี ยูเครนสกี (Dmitry Ukrainsky) อายุ 47 ปี สัญชาติรัสเซีย เป็นจำเลย เพื่อส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน

โดยการจับกุมตัวจำเลยเพื่อขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนนั้น สืบเนื่องจาก จำเลยกับพวกได้สร้างและส่งมัลแวร์ไปยังระบบของผู้เสียหาย เจาะระบบโอนเงินผู้เสียหาย ประเทศต่างๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกา , ออสเตรเลีย , ญี่ปุ่น , อังกฤษ , อิตาลี และเยอรมนี โดยระบบการเงินของผู้เสียหายจะโอนเงินอย่างไม่ถูกต้อง จากบัญชีของผู้เสียหายไปยังบัญชีของพวกจำเลยที่โอนเข้าบัญชีในประเทศไทย จนสูญเงินกว่าพันล้านบาท ซึ่งทางการสหรัฐฯ ได้สืบสวนคดีมาตั้งแต่ปี 2557 พบข้อมูลการโอนเงินเข้ามาในประเทศไทยหลายครั้ง โดยมีข้อมูลว่าจำเลยหนีมากบดาน ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และเปิดบริษัทท่องเที่ยว ให้เช่าเรือยอชต์ จึงประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ติดตามจับกุมจำเลยได้ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งความผิดเทียบเท่ากฎหมายไทย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 60 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี และไม่เป็นความผิดทางการเมือง

ขณะที่คดียังไม่ขาดอายุความ และเป็นกรณีเร่งด่วนจึงขอให้ส่งตัวจำเลย เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ ด้วย ขณะที่ วันนี้ศาลเบิกตัว "นายดิมิทรี" จำเลย จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาฟังคำพิพากษา โดยศาลพิเคราะห์แล้วต้องพิจารณาว่ามีเหตุสมควรส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ซึ่งอัยการโจทก์ มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมจำเลยตามหมายจับ และข้าราชการสถานทูต เบิกความกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้รับหนังสือคำร้องจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้ส่งตัวจำเลยเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งอัยการพิจารณาแล้วเข้าหลักเกณฑ์สามารถส่งตัวจำเลยตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯได้ อัยการโจทก์จึงยื่นฟ้องตามคำร้องของสหรัฐฯ โดยคดีที่กล่าวหานั้นเป็นข้อหาสมคบกันฉ้อโกง ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี และไม่เป็นความผิดทางการเมือง โดยคดียังไม่ขาดอายุความ

ส่วนที่ "จำเลย" เบิกความว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดนั้น "ศาล" พิจารณาข้อกล่าวหาร่วมกับกรณีที่ศาลแขวงสหรัฐอเมริกาได้ออกหมายจับจำเลย ร่วมกับ น.ส.โอลกา โคโมวา (Olga Komova) สัญชาติอุซเบกิสถาน ซึ่งเมื่อทั้งสองถูกจับกุม น.ส.โอลกา ยินยอมถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน และศาลสหรัฐอเมริกา พิพากษาลงโทษแล้วตามข้อหาเดียวกันจริง

ข้อเท็จจริง จึงฟังได้ว่า ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา มีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน โดยคดีมีโทษร่วมกันตามกฎหมายไทยในข้อหาฉ้อโกง ฟอกเงิน มีโทษจำคุกมากกว่า 1 ปี และไม่เป็นความผิดทางการเมือง

"ศาล" จึงพิพากษาให้ส่งตัว "จำเลย" เป็นผู้ร้ายข้ามแดน หลังรับโทษถึงที่สุดในคดีฟอกเงินอีกสำนวนในไทยแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดีการพิจารณาคดีขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าว เป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งตามกฎหมาย จำเลย ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ผลคำพิพากษานั้นได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งด้วย