ชี้ 'อีอีซี' โอกาสทองนักธุรกิจไทย

ชี้ 'อีอีซี' โอกาสทองนักธุรกิจไทย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ชี้ "อีอีซี" โอกาสทองนักธุรกิจไทย

งาน TMB The Economic Insight 2019 เจาะลึกเศรษฐกิจไทยพร้อมตั้งรับ EEC ในยุคดิจิทัล เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า ทีเอ็มบี มุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการที่มีคุณภาพและคุณค่าแก่ลูกค้าธุรกิจอยู่เสมอ ด้วยเชื่อมั่นว่าธุรกิจไทยคือรากฐานสู่อนาคตที่ยั่งยืนของประเทศ ทีเอ็มบี จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นมากกว่าธนาคาร แต่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่จะช่วยส่งต่อความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเงินการธนาคารผ่านบทวิเคราะห์และคำแนะนำที่มีประโยชน์แก่ลูกค้าธุรกิจของเรา

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยโดยรวม โครงการ EEC จะมีส่วนยกระดับการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ได้อย่างยิ่ง จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าโครงการ EEC ยังสามารถรองรับผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เพิ่มอีกจำนวนมาก จากตัวเลขรายรับที่ผู้ลงทุนได้เก็บเกี่ยวจากการลงทุน ประกอบกับช่องทางการรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นอันจะยกระดับศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โอกาสทองที่พร้อมให้ผลตอบแทนในระยะยาวแก่นักธุรกิจไทยจึงอยู่เพียงแค่เอื้อม

ทีเอ็มบี ชี้ระบบเศรษฐกิจโลกในปี 2562 มีทีท่าชะลอตัวขนานใหญ่ โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ (1) ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) ที่ส่งสัญญาณภาคเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงปลายของการขยายตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ (Late Economic Cycle (2)) ระดับราคาน้ำมัน และค่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ที่อยู่ในขาลงมาตั้งแต่ปี 2561 (ราคาน้ำมันโลกลดลงถึง 35% จาก 83 ดอลลาห์สหรัฐต่อบาเรล สู่ 53.8 ดอลลาห์สหรัฐต่อบาเรลเมื่อปลายปี 2561 ขณะที่ค่าดัชนี PMI ลดลงตลอดทั้งปี 2561 จาก 54.5 สู่ 51.5) และ (3) สถานการณ์บีบคั้นของจีน ทั้งจากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลให้ค่าดัชนี PMI ของบริษัททุกขนาดติดลบ และความพยายามรัดเข็มขัดเพื่อปรับลดระดับหนี้ของประเทศลง (จีนมีระดับหนี้ 267% ของจีดีพี เป็นหนี้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ถึง 162% ของจีดีพี รวมถึงมีหนี้นอกระบบที่ต้องจัดการ) นอกจากนี้สภาพตลาดหุ้นที่ราคาตกต่ำ ก็ทำให้ระดับความมั่งคั่งของคนจีนเริ่มมีปัญหา

ขณะที่เศรษฐกิจไทย ในปี 2562 จะขยายตัว ด้วยแรงผลักดันจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก อัตราการเติบโตในปีนี้อยู่ที่ 3.8% ลดลงจาก 4.0% ในปีก่อน เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลักคือการบริโภคภาคเอกชนที่สูงขึ้น สำหรับการส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัว 4.3%YoY ลดลงจาก 6.7%YoY ในปี 2561 เนื่องด้วยผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะจีน การที่ไทยถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) และผลกระทบจากสงครามการค้าของจีนกับสหรัฐอเมริกาที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้การส่งออกของไทยในปีนี้มีตลาดรองรับที่สำคัญ คือ CMLV (+9.0%), อาเซียน (+6.5%), ญี่ปุ่น (+5.5%), ยุโรป (+4.5%) และสหรัฐอเมริกา (+4.5%) ตามลำดับ มีสินค้าส่งออกที่โดดเด่น คือ ยานยนต์และชิ้นส่วน, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์, เครื่องจักร, สินค้าอาหาร และสินค้าจากการเกษตร