คกก.ควบคุมเหล้า มีมติ '13 เม.ย.' ห้ามขายน้ำเมา

คกก.ควบคุมเหล้า มีมติ '13 เม.ย.' ห้ามขายน้ำเมา

คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชอบ 13 เม.ย.62 ห้ามขายน้ำเมา ระบุเป็นวันยอดอุบัติเหตุถนนสูงสุด พ่วงมาตรการจัดโซนนิ่งพื้นที่ขายในจังหวัด ชงคกก.นโยบายฯพิจารณาภายในมี.ค.นี้ ก่อนบังคับใช้ เผยมาตรการก่อนหน้าห้ามขายวันพระใหญ่ ลดอุบัติเหตุได้ผล

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.62 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการฯเห็นชอบมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันที่ 13 เม.ย. 2562 เนื่องจากสถิติย้อนหลัง พบว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ในวันที่ 13 เม.ย.เป็นวันที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งอุบัติเหตุจากรถยนต์มีสาเหตุสำคัญเกิดจากผู้ขับขี่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ โดยข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555-2559 พบว่ามีอัตราการผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจากการจราจรทางถนนที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเป็นผู้ดื่ม 44,590 คน คิดเป็น 32.5 % จากจำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุทั้งสิ้น 137,385 คน โดยพบการบาดเจ็บ เสียชีวิตสูงสุดในวันที่ 13 เม.ย. เป็นกลุ่มอายุ 15-19 ปีมากที่สุด

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า ผู้ขับขี่ยานพาหนะมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถึง 80 % ในผู้ที่มีอายุไม่เกิน 20 ปีมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับถึง 80 % และในผู้ใหญ่ 50-60 % จึงจำเป็นต้องมีมาตรการให้ประชาชนกลับบ้านช่วงเทศกาลอย่างปลอดภัยในวันที่ 13 เม.ย. ส่วนวันอื่นๆในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นสถิติการเกิดอุบัติเหตุไม่แตกต่างจากวันปกติ อีกทั้ง จากมาตรการก่อนหน้าที่มีการห้ามไม่ให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน 5 วันพระใหญ่ ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา

พบว่า สามารถลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุลงอย่างได้ผล ทั้งนี้ จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่ตามกฎหมายมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน ภายในเดือนมี.ค.2562 ก่อนที่จะออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยจะเสนอเฉพาะวันที่ 13 เม.ย.2562ก่อน หากมีการติดตามและประเมินผลแล้วพบว่าได้ผลดีจะมีการพิจารณาประกาศห้ามขายในวันดังกล่าวทุกปีต่อไป

“การออกมาตรการด้วยความหวังดี ไม่ได้ทำร้าย แต่เป็นการป้องกันไม่ให้ใครเดือดร้อนจากการที่มีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะ เพราะในบางครั้งแม้เราไม่ได้ดื่มแล้วขับ แต่เราอาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจากคนอื่นที่ดื่มได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯยังเห็นชอบมาตรการอื่นๆในช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วย ได้แก่ เข้มงวดการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 คณะกรรมการควบคุมแอลกอฮอล์ระดับจังหวัดต้องทำงานอย่างบูรณาการและจัดโซนนิ่งพื้นทีขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในจังหวัดนั้นๆ”นพ.สุขุมกล่าว