ดันฮับอุตฯป้องกันประเทศ

ดันฮับอุตฯป้องกันประเทศ

รัฐบาลชูจุกเสม็ด ศูนย์กลางอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ดัน 3 อุตสาหกรรมปักหมุดชิงส่วนแบ่งตลาดโลก ต่อยอดเรือตรวจการเป็นเรื่องท่องเที่ยว พัฒนาโดรน-ระบบจัดเก็บพลังงาน “นาวิน” เล็งของบแบ่งงบ 10% ให้สตาร์ทอัพหนุนวิจัยไบโอฯ-ระบบป้องกันภัยไซเบอร์

อุตสาหกรรมป้องกันประเทศถูกกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ 11 ที่จะผลักดันในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ทำงานร่วมกันในระยะแรก เพื่อกำหนดกรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หลังจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายเมื่อปลายปี 2561

การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจะส่งเสริมให้บริเวณท่าเรือจุกเสม็ด อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นศูนย์กลางคลัสเตอร์อุตสาหกรรมนี้ ซึ่งพื้นที่บริเวณรอบท่าเรือจุกเสม็ดอยู่ระหว่างยกร่างผังเมืองรวมเฉพาะเพื่อพัฒนารวม 187 ตารางกิโลเมตร เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกด้าน

ดันฮับอุตฯป้องกันประเทศ

พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า คณะทำงานเฉพาะกิจจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศภายในเดือน ก.พ.นี้ โดยพื้นที่ท่าเรือจุกเสม็ดจะเป็นศูนย์กลางของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมนี้ที่สมบูรณ์ในอนาคต ซึ่งการพัฒนาจะไม่ทำเพื่อสนับสนุนการใช้งานทางการทหารอย่างเดียว แต่ต้องมองไปถึงการต่อยอดพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเท่ากับว่าจะตอบโจทย์ทั้งงานความมั่นคงและการใช้งานของพลเรือน รวมทั้งความต้องการของตลาดในอนาคต

นำร่องเรือตรวจการชายฝั่ง

ทั้งนี้ คณะทำงานฯได้หารือเบื้องต้นว่าพัฒนาอาวุธของกองทัพและหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจผลิตเพื่อใช้งานในประเทศและทดแทนการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ โดยโครงการระยะแรกที่จะผลิต คือ การผลิตยานเกราะล้อยาง การผลิตเครื่องรบกวนสัญญาณ และเข็มแทงชนวนท้ายสำหรับกระสุนปืนพกและปืนเล็กยาว

นอกจากนี้ ได้กำหนดประเภทของอุตสาหกรรม 3 อุตสาหกรรม คือ 1.อุตสาหกรรมต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) ซึ่งไทยเชี่ยวชาญในการต่อเรือประเภทนี้ที่มีความยาวไม่เกิน 100 เมตร ใช้ในกองทัพและงานด้านความมั่นคง โดยเรือประเภทนี้ขยายไปอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น เรือยอร์ช เรือซูเปอร์ยอร์ช ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวรายได้สูงที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวทางน้ำ รวมทั้งสนับสนุนนโยบายการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลที่จะมีเรือท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

“ปัจจุบันผู้ประกอบการต่อเรือไทยมีความสามารถด้านนี้มาก ซึ่งสิ่งที่ต้องมีเพิ่มเติม คือ บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องยนต์ของเรือ โดยจะเชิญเอกชนเยอรมนีและจีนมาลงทุน และเมื่อมีการสร้างคลัสเตอร์ที่ครบถ้วนแล้วใน 20 ปีข้างหน้าไทยจะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในเรื่องการผลิตเรือตามภารกิจและส่งออกทั้งเรือ OPV และเรือพาณิชย์นาวีได้” พล.อ.นาวินกล่าว

ต่อยอดการพัฒนาโดรน

2.อุตสาหกรรมโดรน ซึ่งจะไม่ได้เน้นแค่ในเรื่องการผลิตเพราะในตลาดโลกมีผู้ผลิตที่มีศักยภาพในตลาดอยู่แล้ว แต่ไทยจะเน้นในเรื่องการใช้งาน การควบคุมรวมทั้งเทคโนโลยีต่อต้านโดรน เช่น การทำเครื่องกวนสัญญาณโดรนเพื่อสร้างเขตปลอดโดรน หรือการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างโดรนกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นโดรนตรวจการอัจฉริยะ ยานยนต์ตรวจการไร้คนขับ รวมทั้งเป็นผู้ให้บริการแก้ปัญหาครบวงจร (Solution provider) ที่เกี่ยวข้องกับโดรนซึ่งยังถือว่ามีช่องว่างในทางธุรกิจที่สามารถพัฒนาให้ไทยเข้าไปชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมนี้ได้

3.อุตสาหกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน (Energy storage) ซึ่งจะมีความสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า การสำรองพลังงานไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน การเกิดภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน และใช้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งความมั่นคงและทางพาณิชย์

ดึงเอกชนร่วมหนุนงบวิจัย

พล.อ.นาวิน กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จะขอจัดสรรงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ทำงานวิจัยที่สนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การใช้ข้อมูลทางชีวภาพ (Biometrics) รวมทั้งให้งบประมาณในการสนับสนุนมหาวิทยาลัยที่เขามาทำวิจัยประเด็นที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งจะพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อทำงานด้านการวิจัยและพัฒนา ให้มีองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานเป็นของประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

“นายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่าในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้มองในภาพรวมไม่ใช่แค่เรื่องการผลิตแต่ต้องมองไปถึงเรื่องการซ่อม เสริม และสร้าง คือต้องมองให้ครบว่าอะไรที่เราสามารถซ่อมได้เอง เราก็จะสามารถผลิตสิ่งที่จะเสริมขึ้นมาเองได้ และในที่สุดก็สามารถที่จะสร้างที่เป็นของเราเองได้แต่ตรงนั้นต้องมีองค์ความรู้เสียก่อนจึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีการตั้ง Center of excellent ในด้านต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ในการสะสมองค์ความรู้และวิจัยพัฒนา ซึ่งเราดูไปไกลถึงเรื่องการให้บริการในงานระบบ การพัฒนาการใช้งานซึ่งทำในเชิงพาณิชย์ได้เช่นกัน” พล.อ.นาวินกล่าว

หารือ ก.พ.ร.ตั้งองค์กรดูแล

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในระยะต่อไป ได้เสนอนายกรัฐมนตรีให้ตั้งคณะคณะอนุกรรมการด้านพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อเป็นคณะอนุกรรมการหนึ่งของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนระยะต่อไป

ส่วนจะยกระดับคณะอนุกรรมการชุดนี้ให้ขึ้นมาเป็นคณะกรรมการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งมีสำนักงาน งบประมาณ และกำลังคนของหน่วยงานเฉพาะหรือไม่ อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ถึงทิศทางในอนาคต