‘มาเลย์-อินโดฯ’เปิดศึกชิงส่วนแบ่งตลาดฮาลาลโลก

‘มาเลย์-อินโดฯ’เปิดศึกชิงส่วนแบ่งตลาดฮาลาลโลก

เศรษฐกิจอิสลามไม่ได้มีเพียงประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดอื่นอย่างญี่ปุ่น

แม้ญี่ปุ่นจะมีประชากรมุสลิมน้อยมาก แต่กลับเป็นใบเบิกทางสำหรับ “ไฟซาล อาห์หมัด ฟัดซิล” นักธุรกิจชาวมาเลเซีย และไลน์ผลิตภัณฑ์อาบน้ำและน้ำมันนวดตัวของเขาที่ได้รับการรับรองว่าถูกหลักศาสนาอิสลาม หรือ “ฮาลาล”

“ถ้าคุณประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น คุณจะไปทำธุรกิจที่ไหนก็ได้” ไฟซาล เผยกับเว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียน รีวิวเมื่อเร็ว ๆ นี้

บรรดาผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ถูกหลักชารีอะห์ของมาเลเซีย ตั้งเป้าที่จะรุกตลาดทุกแห่งทั่วโลก หวังชิงผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากเศรษฐกิจอิสลามโลกที่คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2566 แต่โอกาสทองดังกล่าวมาพร้อมกับการแข่งขันที่อันน่าเกรงขาม

ขณะที่อินโดนีเซีย  ซึ่งมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก กำลังหาทางยกระดับการท้าทายครั้งใหญ่ในเศรษฐกิจอิสลามเช่นกัน

คำว่า “ฮาลาล” ครอบคลุมถึงทุกสิ่งอย่างที่สอดคล้องกับกฎหมายอิสลามตามที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์กุรอาน กฎดังกล่าวมีข้อห้ามไม่ให้ชาวมุสลิมบริโภคเนื้อหมูและแอลกอฮอล์ แต่คัมภีร์กุรอานสามารถประยุกต์ใช้ได้กับผลิตภัณฑ์และบริการทุกประเภท

แม้มีความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานสากล แต่ในปัจจุบัน หลายประเทศต่างใช้วิธีการรับรองตราฮาลาลเป็นของตัวเอง

มาเลเซียมีข้อได้เปรียบเหนือเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในธุรกิจฮาลาล โดยส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตราฮาลาลมูลค่า 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2560 เพิ่มขึ้น 32% จาก 4 ปีก่อนหน้าเมื่อคำนวณจากค่าเงินท้องถิ่น อาหารคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าส่งออกดังกล่าว ขณะเดียวกัน การส่งออกเครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์ และสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่าอยู่ที่ 7,600 ล้านดอลลาร์

รายงานสถานะเศรษฐกิจอิสลามโลก ปี 2561/2562 ที่รวบรวมโดยบริษัททอมสัน รอยเตอร์ และบริษัทไดนาร์ สแตนดาร์ด ระบุว่า มาเลเซียครองอันดับ 1ประเทศที่มีอยู่ตำแหน่งดีที่สุดที่จะคว้าโอกาสทองในเศรษฐกิจอิสลาม ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ในอนาคตอันใกล้ ขณะที่อินโดนีเซียอยู่ในอันดับ 10 ร่วมกับบรูไน

ปัจจุบัน เศรษฐกิจอิสลามไม่ได้มีเพียงประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงตลาดอื่น ๆ อย่างญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการสินค้าที่ถูกหลักอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นจากบรรดานักเดินทางหรือผู้อพยพ

มาเลเซีย ซึ่งยกให้อาหารฮาลาลและการเงินอิสลามเป็นเสาหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจมานาน หวังที่จะขยายอิทธิพลของตนด้วยการเริ่มทำการตลาดเชิงรุกในญี่ปุ่น

แนวคิดนี้มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือบรรดาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อย่างธุรกิจของไฟซาลเข้าไปบุกเบิกตลาด และมีเป้าหมายระยะสั้นคือทำให้ธุรกิจมาเลเซียเปิดตัวในตลาดญี่ปุ่นให้ได้มากที่สุดในช่วงการแข่งขัน “โตเกียว โอลิมปิก” ในปี 2563

กระทรวงการพัฒนาผู้ประกอบการมาเลเซีย คาดการณ์ว่า นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ราว 4.5 หมื่นคนจะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ และประมาณ 40% ของทั้งหมดจะต้องการผลิตภัณฑ์ฮาลาล ตัวเลขดังกล่าวยังไม่นับรวมแฟนกีฬาที่จะเดินทางมาเชียร์ทัพนักกีฬาทีมชาติของตน

ข้อมูลจากองค์การการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่น ชี้ว่า มีชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมากขึ้นมาเยือนญี่ปุ่นเพื่อชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยการมาเยือนญี่ปุ่นจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นกว่า 400% จากปี 2550-2560 ขณะที่การมาเยือนจากมาเลเซียเพิ่มขึ้นกว่า 300%

นอกจากนั้น เรมอนเน้นย้ำว่า บรรดาร้านอาหารของบริษัทและโรงเรียนจำเป็นต้องปรับตัวรับฮาลาล เนื่องจากญี่ปุ่นนำเข้าแรงงานจากประเทศอย่างอินโดนีเซียมากขึ้น เพื่อชดเชยการขาดแคลนแรงงานในประเทศ

ในงานเปิดตัวแคมเปญการตลาดของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมาเรดซวน ยูโซฟ รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาผู้ประกอบการมาเลเซีย ประกาศว่า มาตรฐานฮาลาลของประเทศถือว่า “ดีที่สุดในโลก” แต่เขาย้ำว่าสิ่งนี้จะแทบไม่มีความหมาย หากมาเลเซียไม่นำผลิตภัณฑ์ของตนเข้าสู่ตลาดโลก

ขณะเดียวกัน อินโดนีเซีย พยายามผงาดขึ้นมาเป็นผู้เล่นฮาลาลรายใหญ่ด้วยการขยายการรับรองสินค้าฮาลาลเพิ่มความแข็งแกร่งฐานการผลิตฮาลาล และกระตุ้นการส่งออกของตน

เนื่องด้วยเกือบ 90% ของประชากรกว่า 260 ล้านคนนับถือศาสนาอิสลาม อินโดนีเซียจึงเป็นหนึ่งในตลาดฮาลาลขนาดใหญ่ที่สุด แต่การส่งออกของประเทศส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียอ่อนไหวต่อภาวะราคาทรัพยากรผันผวน