“ฮุน เซน”โต้กลับอียูหลังจ่อถูกยกเลิกสิทธิพิเศษการค้า

“ฮุน เซน”โต้กลับอียูหลังจ่อถูกยกเลิกสิทธิพิเศษการค้า

นายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชา เตือนสหภาพยุโรป (อียู) ว่าอย่าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ ถือเป็นการตอบโต้ครั้งแรกหลังจากอียู เริ่มกระบวนการเพื่อยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้าแก่กัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน โพสต์เฟซบุ๊คที่มีผู้ติดตามกว่า 10 ล้านคนว่า กัมพูชาไม่สามารถแลกเอกราชและอธิปไตยกับสิ่งอื่นได้ และต้องการเป็นมิตรกับประเทศที่อยากเห็นกัมพูชาก้าวหน้าโดยไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งถ้อยแถลงของฮุนเซน มีขึ้นหลังจากอียู ประกาศเมื่อวันจันทร์ (11ก.พ.)ว่า จะเริ่มกระบวนการสังเกตการณ์อย่างถี่ถ้วนเพื่อตัดสินใจว่าจะระงับสิทธิพิเศษทางภาษีให้แก่กัมพูชาตามข้อตกลงละเว้นภาษีในสินค้าทุกประเภทยกเว้นอาวุธ( Everything But Arms) หรืออีบีเอ หรือไม่ ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้าที่จ้างงานคนกว่า 700,000 คน เนื่องจากอียูเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ6ของกัมพูชา 

อียู นำเข้าสิ่งทอและรองเท้าจากกัมพูชามูลค่ากว่า 4,000 ล้านดอลลาร์และที่ผ่านมาอียู ได้ประกาศเตือนมาหลายครั้งว่าจะพิจารณาเรื่องนี้ หลังจากกัมพูชาจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนก.ค.ปีที่แล้ว โดยไม่มีฝ่ายค้านหลักเข้าร่วมเพราะถูกศาลฎีกาสั่งยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง แต่กระบวนการของอียูต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี

ขณะที่รัฐบาลกัมพูชา ออกแถลงการณ์ประณามการตัดสินใจดังกล่าวว่าเป็นการแสดงความไม่ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่งของคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) องค์กรบริหารของอียู ซึ่งช่วยให้กัมพูชาสามารถส่งออกสินค้าไปยังอียูได้ทุกรายการโดยไม่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า ยกเว้นอาวุธ

รัฐบาลกัมพูชากล่าวหาอีซีว่า ไม่ได้ให้ความสนใจต่อการดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรม และมีความคืบหน้าที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาของสหประชาชาติ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)

ขณะที่นางเฟเดอริกา โมเกรินี หัวหน้านโยบายต่างประเทศของอียู กล่าวว่า ถึงแม้อียูยอมรับว่ารัฐบาลกัมพูชาได้ดำเนินการในเชิงบวกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และมีการผ่อนคลายต่อการจำกัดสิทธิของประชาชน และสหภาพการค้า แต่หากรัฐบาลกัมพูชาไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวก็จะไม่สอดคล้องกับการที่กัมพูชาได้รับสิทธิอีบีเอ