ทษช.งัด 'ม.93' เเย้ง 'กกต.' สกัดยื่นยุบพรรค

ทษช.งัด 'ม.93' เเย้ง 'กกต.' สกัดยื่นยุบพรรค

ฝ่ายกฎหมาย ทษช. แจงจำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้คุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา เเละขอให้ กกต. ใช้อำนาจด้วยความระมัดระวัง ต้องฟังคู่กรณีและมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา

นายพิชิต ชื่นบาน ประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวถึงการเตรียมยื่นคำชี้แจงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่อยู่ระหว่างพิจารณาประเด็นยุบพรรค ทษช. ว่า เหตุผลที่ให้ฝ่ายกฎหมายพรรคไปยื่น กกต. ในวันที่ 13 ก.พ. เพราะตามมาตรา 92 เเห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ กกต. เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ควรดูมาตรา 93 เเห่ง พ.ร.ป.ฉบับนี้ประกอบด้วยว่า ขั้นตอนที่ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรวบรวมข้อเท็จจริงนั้น จะกระทำฝ่ายเดียวมิได้ เพราะต้องยึดหลักสากลที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญก็ให้สิทธินี้กับพรรค เพราะการยุบพรรคนั้น กระทบต่อพรรคเเละสมาชิกพรรค ฉะนั้นต้องฟังทุกฝ่ายการจะสรุปของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ให้กรรมการ กกต.มีมตินั้น จะเป็นการฟังความข้างเดียว ขอให้ กกต.ใช้หลักฟังความจากทุกฝ่าย เพราะเป็นหลักสากล

นายพิชิต กล่าวต่อว่า มีข้อสังเกตสำคัญในมาตรา 93 เเห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ระบุว่านายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงเเละพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กรรมการ กกต.ระบุ ถามว่า กกต.มีหลักเกณฑ์พิจารณาเรื่องนี้เเล้วหรือไม่ หรือจะใช้หลักเกณฑ์ใดมายุบพรรค
"พรรคจะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้คุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ เเละเเจ้งให้ กกต.ทราบถึงการใช้อำนาจด้วยความระมัดระวัง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 93 ระบุว่า เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียน ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 92 คณะกรรมการจะยื่นคำร้องเอง หรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคำร้อง และดำเนินคดีแทนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ จะขอให้อัยการสูงสุดช่วยเหลือดำเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้ ในกรณีที่เห็นสมควรศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทำใดไว้เป็นการชั่วคราว ตามคำร้องขอของคณะกรรมการ นายทะเบียน หรืออัยการสูงสุด แล้วแต่กรณีก็ได้

ส่วนมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน