รับฟัง 'ไอซีดี' ฉะเชิงเทราล่ม

รับฟัง 'ไอซีดี' ฉะเชิงเทราล่ม

เวทีรับฟังความเห็น "ไอซีดี ฉะเชิงเทรา" ล่ม หลังชุมชนออกโรงค้านโครงการ สนข.เผย ต.หนองตีนนก อ.แปดริ้ว เหมาะสมที่สุด ใกล้เส้นทางคมนาคมหลัก กระทบชาวบ้านน้อยสุด เผยใช้งบก่อสร้าง 1.4 หมื่นล้านบาท รองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 1.9 ล้านทีอียู

โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (ไอซีดี) ฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมามีการร้องคัดค้านของชุมชนบางส่วนใน ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา โดยยื่นหนังสือคัดค้านต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัมนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

วานนี้ (11 ก.พ.) ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อรายงานฉบับสมบูรณ์ โดยมีหน่วยงานและประชาชนใน จ.ฉะเชิงเทรา มารับฟังกว่า 200 คน ซึ่งเวทีนี้ได้ยุติลงก่อนที่จะถึงช่วงรับฟังความเห็น เพราะมีกลุ่มที่อ้างว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้เข้ามาประท้วง

รับฟัง 'ไอซีดี' ฉะเชิงเทราล่ม

นายชุมโชค นันทวิชิต รองผู้จัดการโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับอีอีซี เปิดเผยว่า ได้ศึกษาศักยภาพความพร้อมของ 4 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่ใกล้กับสถานีรถไฟโพรงอากาศ ติดกับเส้นทางรถไฟ ต.โพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว
2.พื้นที่บนถนนสุขาภิบาล 11 ติดแม่น้ำบางปะกง ต.บ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ 3.พื้นที่ใกล้สถานีรถไฟดอนสีนนท์ อยู่ติดกับเส้นทางรถไฟ ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ (ด้านตะวันออกของทางรถไฟ) 4.พื้นที่ใกล้สถานีรถไฟดอนสีนนท์ เลียบคลองชลประทาน ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ (ด้านตะวันตกของทางรถไฟ)

เลือกจุดกระทบชุมชนน้อยสุด

นายชุมโชค กล่าวว่า พื้นที่ 3 ใกล้กับสถานีรถไฟดอนสีนนท์ (ด้านตะวันออกของทางรถไฟ) เหมาะสมที่สุด เพราะอยู่ใกล้กับเส้นทางคมนาคมสำคัญ ทั้งสถานีรถไฟ ถนนหลวงหมายเลข 315 ที่เป็นเส้นทางหลัก และทางหลวงชนบทหมายเลข 3122 ที่สำคัญในพื้นที่นี้ ซึ่งกระทบประชาชนน้อยที่สุด และพื้นที่เป็นที่ดินแปลงใหญ่ 120 แปลง กระทบชาวบ้าน 30 หลังคาเรือน หากสร้างพื้นที่อื่นจะกระทบชาวบ้านมากกว่านี้

“ในการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ต้องมีเส้นทางคมนาคมหลักเข้าถึงพื้นที่สะดวกที่สุด เพื่อลดต้นทุนขนส่ง และดึงดูดให้บริษัทขนส่งเข้ามาใช้บริการ ที่สำคัญจะต้องกระทบประชาชนน้อยที่สุด”

ส่วนทางเลือกในพื้นที่ 1 ใกล้สถานีรถไฟโพรงอากาศ ต.โพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว แม้จะมีพื้นที่เยอะแต่เป็นทางระบายน้ำหลากจากแม่น้ำเจ้าพระยา และการคมนาคมขนส่งไม่สะดวก ซึ่งทำให้ ต.หนองตีนนก อ.บางน้ำเปรี้ยวเหมาะสมที่สุด

ยืนยันชุมชนส่วนใหญ่เห็นด้วย

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ประชุมกลุ่มย่อยในพื้นที่ดังกล่าวพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องเวนคืนพื้นที่ ก็จะชดเชยให้อย่างเหมาะสม

สำหรับโครงการ ไอซีดี จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.พื้นที่ส่วนกลาง ประกอบด้วย อาคารสำนักงานกลาง, โรงอาหาร, อาคารพักสินค้าตกค้าง, อาคารตรวจสอบเอ็กซ์เรย์ พร้อมด้วยจุดพัก ซึ่งประกอบด้วยปั๊มน้ำมันและปั๊มแก๊ส, ลานจอดพักรถเทรลเลอร์ และร้านค้าต่างๆ

2.พื้นที่สถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ ประกอบด้วย ลานกองตู้คอนเทนเนอร์, โรงซ่อม, ลานทำความสะอาดตู้, โรงอาหาร, อาคารปฏิบัติการ, อาคารสำนักงาน, จุดคัดแยกและบรรจุสินค้ารวมทั้งโรงพักสินค้า 3.โครงข่ายถนนเชื่อมต่อเข้า-ออกโครงการ และ Service Road เช่น ทางแยกต่างระดับขนาด 2 ช่องจราจรเชื่อมโครงการกับทางหลวงหมายเลข 315

4.ทางรถไฟเชื่อมต่อเข้าพื้นที่โครงการและพื้นที่สถานีรถไฟ ประกอบด้วย อาคารสถานีรถไฟดอนสีนนท์ และหอสูงตรวจการณ์ พร้อมอาคารสำนักงาน โดยโครงการจะก่อสร้างทางเชื่อมรางรถไฟเข้ามาในพื้นที่ไอซีดี เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการขนถ่ายสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ทั้งขาขึ้นและขาล่อง

เตรียมพื้นที่พัฒนา 760 ไร่

นอกจากนี้ ไอซีดี จ.ฉะเชิงเทรา มีพื้นที่โครงการรวม 760 ไร่ มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งหมด 14,507 ล่านบาท โดยการก่อสร้างจะแบ่งเป็น 2 เฟส ในเฟส 1 จะใช้พื้นที่ 211 ไร่ ใช้เงินลงทุน 10,941 ล้านบาท รองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ได้ 10 ปี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2567 ส่วนเฟส 2 ใช้พื้นที่ 160 ไร่ ใช้เงินลงทุน 3,566 ล้านบาท คาดว่าจะจะดำเนินการในปี 2577

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาคาดการณ์ว่าในปีแรกจะมีปริมาณตู้สินค้าที่เข้ามาใช้บริการสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ที่จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 5 แสนทีอียู และเพิ่มขึ้นเป็น 1.9 ล้านทีอียูในปีที่ 30 โดยการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจพบว่า ให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจอัตรา 15% มีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี แต่การออกแบบรายละเอียดจะปรับตัวเลขให้เหมาะสมได้

ส่วนรูปแบบการลงทุนแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ 1. ภาครัฐลงทุน 7,178 ล้านบาท โดยจะลงทุนในส่วนของงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง ค่าที่ดิน ปรับปรุงพื้นที่ ทำถนนโดยรอบโครงการ และสร้างทางรถไฟเข้ามาในพื้นที่ ภาคเอกชนลงทุน 7,330 ล้านบาท ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการ งานจัดหาอุปกรณ์เครื่องยกตู้สินค้า ซึ่งคาดว่าเอกชนใช้เวลาคืนทุน 17-18 ปี

2.ภาครัฐลงทุน 13,192 ล้านบาท ครอบคลุมการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่าที่ดินและโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนลงทุน 1,316 ล้านบาท ครอบคลุมอุปกรณ์ยกตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะคืนทุนใน 3-5 ปี

เล็งชง กพอ.เคาะเลือกพื้นที่

นายชุมโชค กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะเสนอผลการศึกษาให้ กพอ.พิจารณา จากนั้นในช่วงปี 2562 ถึงต้นปี 2563 จะออกแบบในรายละเอียด จากนั้นปี 2563 จะอนุมัติโครงการ และปี 2564 คัดเลือกผู้รับสัมปทาน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ปี 2565 ก่อสร้างโครงการ และปี 2567 เปิดดำเนินการ

นายชุมโชค กล่าวว่า ความกังวลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้น ขอยืนยันว่าโครงการนี้จะไม่กระทบต่อการระบายน้ำอย่างแน่นอน โดยในจุดที่คลองตัดผ่านโครงการจะมีการปรับปรุงดาดคอนกรีตให้น้ำไหลได้ดีขึ้น ขุดคลองด้านข้าง และขยายคลองช่วงตอหม้อสะพานรถไฟให้น้ำไหลได้อย่างสะดวก จะทำให้ทางน้ำสะดวกกว่าเดิม ส่วนผลกระทบจากการถมดินที่อาจทำให้น้ำท่วมสูงขึ้นนั้น จากการศึกษาปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำท่วมตลอด 50 ปี พบว่าจะส่งผลน้อยมาก พื้นที่นี้ส่วนใหญ่เป็นแหล่งรับน้ำอยู่แล้ว จะมีน้ำท่วมตามฤดูการเป็นปกติ