ไทยท็อปฟอร์มปฏิรูปด้านดิจิทัล

ไทยท็อปฟอร์มปฏิรูปด้านดิจิทัล

“เดลล์” เผยผู้นำทางธุรกิจยอมรับการปฏิรูปสู่ดิจิทัลยังล่าช้า ตลาดเกิดใหม่ได้เปรียบ แนวโน้มโตได้มากที่สุด ไทยขึ้นแท่นประเทศที่มีความพร้อมสูง ระบุใน 3 ปี การลงทุนไซเบอร์ซิเคียวริตี้ เอไอ ไอโอที มัลติคลาวด์ ยังแรง

เดลล์ เทคโนโลยีส์ รายงานว่า ปัจจุบันแม้การพัฒนาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจมีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทว่าดัชนีชี้วัดการปฏิรูปสู่ดิจิทัลที่ได้ทำการสำรวจร่วมกับอินเทล และแวนสัน บอร์นพบว่า แผนงานด้านการปฏิรูปทางดิจิทัลของธุรกิจจำนวนมากยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น

จากการทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจจำนวนกว่า 4,600 คน ระดับผู้อำนวยการไปจนถึงประธานเจ้าหน้าที่ (C-suite) ขององค์กรธุรกิจตั้งแต่ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ทั่วโลกเพื่อประเมินความพยายามในการเปลี่ยนแปลงองค์กรของพวกเขาซึ่งทำพบว่า 78% ของผู้นำธุรกิจกล่าวว่าการปฏิรูปทางดิจิทัลควรเป็นการดำเนินการในวงกว้างให้ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร(ไทยประมาณ 90%)

โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งขององค์กรธุรกิจ หรือ 51% เชื่อว่าพวกเขาจะต้องดิ้นรนเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปภายในระยะเวลา 5 ปี (ไทย 71%) และเกือบหนึ่งในสาม หรือ 30% ยังคงมีความกังวลว่าองค์กรของตนเองจะถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง (ไทย 33%)

อย่างไรก็ดี การศึกษาเผยให้เห็นว่า ตลาดเกิดใหม่มีความพร้อมและการเติบโตมากกว่าตลาดที่พัฒนาแล้ว โดยประเทศที่มีความพร้อมด้านดิจิทัล (digitally mature) มากที่สุดคือ 1.อินเดีย 2.บราซิล 3.ไทย 4.เม็กซิโก 5.โคลัมเบีย ในทางตรงกันข้ามตลาดที่พัฒนาแล้วกลับเลื่อนไหลลงไปอยู่ข้างหลัง โดยประเทศที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลน้อยที่สุดได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 2.เดนมาร์ค 3.ฝรั่งเศส 4.เบลเยี่ยม 5.สิงคโปร์ ยิ่งกว่านั้นตลาดเกิดใหม่ยังมีความมั่นใจมากกว่าในศักยภาพของตัวเองว่าจะสามารถ “เปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างสิ้นเชิงมากกว่าจะเป็นผู้ที่ถูกเปลี่ยนแปลง” ระดับ 53% เมื่อเทียบกับตัวเลขที่ระดับ 40% ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

นายไมเคิล เดลล์ ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า อนาคตอันใกล้นี้ ทุกองค์กรธุรกิจต่างจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นองค์กรดิจิทัล แต่งานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในการเดินทางอีกยาวไกล

“องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องปรับเทคโนโลยีที่พวกเขาใช้งานให้ทันสมัยเพื่อมีส่วนร่วมในโอกาสที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอย่างการปฏิรูปทางดิจิทัลถ้าจะลงมือก็ต้องเป็นในตอนนี้เลย"

ปัจจุบัน องค์กรที่ขึ้นไปเป็นผู้นำด้านดิจิทัล (Digital Leaders) มีเพียง 5% ผู้ที่เริ่มก้าวสู่ดิจิทัล(Digital Adopters) 23% ผู้ที่กำลังประเมินดิจิทัล(Digital Evaluators) 33% ผู้ตามในเรื่องดิจิทัล(Digital Followers) 30% และผู้ที่ถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลังดิจิทัล (Digital Laggards) 9% เห็นได้ว่ามีเพียงแค่ 5% ของธุรกิจทั่วโลกที่ได้รับการนิยามให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัลซึ่งบ่งชี้ได้ว่าไม่มีความคืบหน้าด้านการพัฒนาใดๆ มาตั้งแต่ปี 2559

ข้อมูลชี้ว่า ผู้นำทางธุรกิจต่างกำลังอยู่ในสภาวะของวิกฤติด้านความเชื่อมั่น โดย 91% ถูกเหนี่ยวรั้งไว้ด้วยอุปสรรคที่เรื้อรังมานาน 5 อันดับแรกคือ 1.การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์(อันดับ 1 ในไทยด้วย) 2.การขาดงบประมาณและทรัพยากร 3.การขาดทักษะและความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมภายในองค์กร(อันดับ 5 ในไทย) 4.การเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบและกฎหมาย 5.ความไม่สมบูรณ์ของวัฒนธรรมดิจิทัล

เกือบครึ่งหนึ่ง (49%) เชื่อว่าองค์กรของพวกเขาต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือภายในอีกห้าปีข้างหน้า เกือบหนึ่งในสาม (32%) ไม่เชื่อว่าองค์กรของตัวเองที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ได้ อาทิ กฎระเบียบว่าด้วยการป้องกันข้อมูลทั่วไปของสหภาพยุโรป หรือ EU General Data Protection Regulation หนึ่งในสามไม่เชื่อถือว่าองค์กรของตนจะปกป้องข้อมูลของพนักงานหรือลูกค้า

ส่วนการลงทุนด้านเทคโนโลยีในอีก 1-3 ปีข้างหน้า 5 อันดับแรกได้แก่ 1.การรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์(Cybersecurity) 2.ไอโอที 3.สภาพแวดล้อมแบบมัลติ-คลาวด์ 4.ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) 5.แนวการดำเนินงานที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นศูนย์กลาง(compute centric)