ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 11 - 15 ก.พ. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 4 - 8 ก.พ. 62

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 11 - 15 ก.พ. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 4 - 8 ก.พ. 62

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม จากตลาดที่มีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 51 - 56 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 59 - 64 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (11 – 15 ก.พ. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากตลาดน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มตึงตัวอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงปรับลดปริมาณการผลิตจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียที่ประกาศปรับลดปริมาณการผลิตลงมากกว่าระดับเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ นอกจากนี้ การคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาโดยสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ตลาดตึงตัวมากกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มจะคลี่คลายลงด้วยดี หลังมีความคืบหน้าในการประชุมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มที่จะลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในสหรัฐฯ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • การตกลงปรับลดปริมาณการผลิตราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค มีแนวโน้มจะส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบตึงตัวขึ้น โดยล่าสุดผลการสำรวจปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปคในเดือนม.ค. 62 ของสำนักข่าวรอยเตอร์พบว่าปริมาณการผลิตจากกลุ่มโอเปคได้ปรับลดลงราว 890,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 30.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งการปรับลดกำลังการผลิตคิดเป็นกว่าร้อยละ 70 ของข้อตกลง โดยการปรับลดลงนำโดยซาอุดิอาระเบีย ที่ได้ลดปริมาณการผลิตลงราว 350,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือน ธ.ค.61 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียได้ออกมากล่าวว่าจะมีการปรับลดปริมาณการผลิตเพิ่มเติมราว 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับการผลิตในเดือนม.ค. 62 สู่ระดับ 10.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าเดิมที่ตกลงไว้
  • จับตาการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาโดยสหรัฐฯ เพื่อกดดันให้รัฐบาลมาดูโรออกจากตำแหน่ง เนื่องจากการปกครองของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาล่มสลาย โดยการคว่ำบาตรครั้งนี้จะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ปกติส่งออกไปยังสหรัฐฯ อาจต้องเปลี่ยนทิศทางการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ แทนเช่น จีน อินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลามากที่สุดถัดจากสหรัฐฯ
  • จับตาความคืบหน้าการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ว่าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมก่อนที่จะถึงเส้นตายในเดือน มี.ค. หรือไม่ โดยตัวแทนการเจรจาของสหรัฐฯ จะมีการพบปะกับทางจีนเพื่อหารือเพิ่มเติมถึงข้อขัดแย้งและประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้เพิ่มเติมหลังจากความคืบหน้าครั้งก่อนที่ทางจีนตกลงที่จะซื้อถั่วเหลืองและเพิ่มการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ และจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนกำหนดดังกล่าว จะส่งผลให้ สหรัฐฯ มีการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ารวมทั้งสิ้น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 และคาดจะส่งผลให้ทางจีนมีการตอบโต้เพิ่มเติมเช่นกัน ซึ่งหากมีการเพิ่มอัตราภาษีขึ้นคาดจะส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันอย่างต่อเนื่อง
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในสหรัฐฯ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาราว 1.2 ล้านบาร์เรล แม้ว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ความต้องการใช้น้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังอยู่ในช่วงการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในสหรัฐฯ
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตจีน ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าของประเทศจีน ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของยูโรโซน และดัชนีราคาผู้บริโภคสหราชอาณาจักร

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 - 8 ก.พ. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.54 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 52.72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.65 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 62.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 62 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากความกังวลของนักลงทุนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการถอนตัวของประเทศอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) ประกอบกับ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อนานกว่าความคาดหมาย หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมากล่าวว่าจะไม่มีการพบสี จิ้นผิง ก่อนวันกำหนดการเพิ่มภาษีในวันที่ 2 มี.ค. 62 แม้ในการเจรจาการค้าระหว่างทั้งสองประเทศในปลายเดือน ม.ค. 62 ที่ผ่านมามีความคืบหน้าไปในทิศทางบวก  อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากความเชื่อมั่นในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค หลังซาอุดิอาระเบียประกาศปรับลดปริมาณการผลิตลงมากกว่าที่ตกลงไว้ นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศอิหร่านและเวเนซุเอลามีแนวโน้มที่จะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังประสบกับการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ