กองทุนซอฟท์แบงก์รุกอุตฯฟินเทคยุโรป

กองทุนซอฟท์แบงก์รุกอุตฯฟินเทคยุโรป

กองทุนแสนล้านดอลลาร์ของ“ซอฟท์แบงก์” เตรียมรุกสู่ภาคอุตสาหกรรมฟินเทคของยุโรป ด้วยการเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพการธนาคารดิจิทัลของอังกฤษ

เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานเมื่อวันศุกร์ (8 ก.พ.) ว่า กองทุน “วิชัน ฟันด์” ของซอฟท์แบงก์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมและบริการอินเทอร์เน็ตของญี่ปุ่น กำลังรุกเข้าสู่ภาคเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ของยุโรป โดยจะร่วมลงทุนเกือบ 400 ล้านดอลลาร์ใน “โอคนอร์ธ โฮลดิ้งส์” สตาร์ทอัพการธนาคารดิจิทัล (ดิจิทัลแบงกิ้ง) ของอังกฤษ

กองทุนวิชัน ฟันด์มูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียสนับสนุน จะลงทุน 390 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ “เคลอร์มอนต์ กรุ๊ป” ยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์จะลงทุน 50 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้โอคนอร์ธเป็นหนึ่งในบริษัทที่ระดมทุนฟินเทคได้มากที่สุดในยุโรปจนถึงปัจจุบัน

รายงานระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวทำให้สตาร์ทอัพอังกฤษรายนี้มีมูลค่าตลาด 2,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นธุรกิจร่วมทุนฟินเทคที่มีมูลค่าสูงที่สุดในภูมิภาค นอกจากนั้น โอคนอร์ธจะนำเงินทุนจากการระดมทุนรอบล่าสุดไปใช้ขยายการดำเนินงานในสหรัฐ

โอคนอร์ธ ระบุว่า ปัจจุบัน บริษัทให้ความสำคัญกับบรรดาบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง และปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจของอังกฤษตั้งแต่เปิดตัวในเดือนก.ย. 2558 อีกทั้งให้บริการด้านแพลตฟอร์มวิเคราะห์เชิงลึกแก่ธนาคารรายอื่น ๆ

ข้อตกลงนี้มีขึ้นไม่ถึง 6 เดือนหลังสตาร์ทอัพอังกฤษรายนี้ระดมทุนได้ 100 ล้านดอลลาร์จากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ “จีไอซี” ของสิงคโปร์และผู้ลงทุนรายอื่น ๆ

ขณะที่เว็บไซต์ข่าวครันช์เบส รายงานว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ในโอคนอร์ธคือบริษัทอินเดียบูลส์ เฮาซิง ไฟแนนซ์ ผู้ให้บริการด้านการเงินของอินเดีย

กองทุนวิชัน ฟันด์ ซึ่งบริหารโดยบริษัทลูกของซอฟท์แบงก์ กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)ปัจจุบันยังถือหุ้นในบริษัทฟินเทคหลายราย รวมถึง “เพย์ทีเอ็ม” ของอินเดีย และ “แคบเบจ” ของสหรัฐ

การลงทุนในโอคนอร์ธถือเป็นการลงทุนในฟินเทครายใหญ่ครั้งแรกในยุโรปของวิชัน ฟันด์ขณะที่การลงทุนอื่น ๆ ในยุโรปของกองทุนนี้ ยังรวมไปถึง “ออโตวัน กรุ๊ป” แพลตฟอร์มซื้อขายรถของเยอรมนี

นอกจากนั้น ซอฟท์แบงก์ได้โอนหุ้นใน “อาร์ม โฮลดิ้งส์” บริษัทออกแบบชิพของอังกฤษซึ่งซื้อมามูลค่า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2559 ให้กับกองทุนวิชัน ฟันด์ด้วย