เจาะนโยบายภาษีบุหรี่ 40% ทำร้ายเกษตรกร ไม่ลดคนสูบ

เจาะนโยบายภาษีบุหรี่ 40% ทำร้ายเกษตรกร ไม่ลดคนสูบ

เจาะนโยบายภาษีบุหรี่ 40% ทำร้ายเกษตรกร ไม่ลดคนสูบ

กรณีข่าวการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เตรียมขึ้นราคาบุหรี่อีกซองละ 33 บาท ในเดือนตุลาคมนี้ เป็นผลจากการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ตามมูลค่าอีกเท่าตัว เป็นร้อยละ 40 ทุกช่วงราคา โดยจะทำให้ราคาขายปลีกบุหรี่ 5 ยี่ห้อของ ยสท. ขยับเป็นซองละ 93 บาท จากที่จำหน่ายอยู่ที่ซองละ 60 บาท ทุกวันนี้เดือดร้อนถึงเกษตรกรชาวไร่ยาสูบเกือบ 50,000 ครอบครัว ที่โดนตัดโควตาฤดูกาล 2561/2562 ไปร้อยละ 50 ทำให้รายได้ลดลงไปราว 230 ล้านบาท ล่าสุด ยสท.ได้ประกาศว่าไม่สามารถรับซื้อใบยาสูบได้ในฤดูกาล 2562/2563 ที่กำลังจะมาถึงด้วย จากการขึ้นภาษีบุหรี่หลายครั้งติดต่อกัน โดยล่าสุดเพิ่งขึ้นไปเมื่อปี 2560 ทำให้ราคาบุหรี่ที่ถูกที่สุดในตลาดมีราคาเพิ่มขึ้นไปแล้ว ร้อยละ 50 และส่งผลข้างเคียงคือทำให้ตลาดยาเส้นเติบโตคึกคัก ยาเส้นใส่ซองขายพร้อมกระดาษมวนเองจำหน่ายเพียงซองละ 10 บาทวางให้เห็นชัดเจนในร้านชำตามย่านชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สิงห์อมควันรายหนึ่งย่านประชาชื่น กรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่าหันมาสูบยาเส้นแทนบุหรี่ตั้งแต่ปีก่อน เพราะราคาบุหรี่แพงเกินไป ตอนนี้ถึงจะขึ้นราคาบุหรี่อีกเท่าใดเขาก็ไม่เดือดร้อน

ชาวไร่ยาสูบเหนือ-อีสานเผชิญทุกข์ต่อเนื่อง

ภาษีบุหรี่ยังแผลงฤทธิ์รุนแรงกับกลุ่มชาวไร่ยาสูบให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะถูกยสท. ตัดโควตารับซื้อใบยาสูบในฤดูกาล 2561/2562 ไปร้อยละ 50 สูญเสียรายได้ไปราว 230 ล้านบาท แม้ว่า ครม.จะมีมติเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 อนุมัติเงินชดเชยวงเงิน 159 ล้านบาท ซึ่งเป็นการชดเชยแค่ปีเดียว ทั้งๆ ที่รัฐบาลเห็นอยู่แล้วว่าชาวไร่เดือดร้อนจากภาษีบุหรี่และรัฐบาลเองก็ประกาศจะขึ้นภาษีอีกครั้งเป็นร้อยละ 40 ในเดือนตุลาคม 2562 อนาคตเรื่องโควตารับซื้อใบยาและรายได้ของชาวไร่ยาสูบกว่า 50,000 ครอบครัวในภาคเหนือและอีสาน จึงทำท่าว่าจะดับวูบ นายสุธี ชวชาติ นายกสมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูก และผู้ค้าใบยาสูบ จังหวัดลำปาง ที่ปลูกใบยาสูบส่งขายให้ ยสท. เพื่อผลิตบุหรี่มวน คาดว่าชาวไร่ยาสูบอาจถูกลดการรับซื้อใบยาสูบต่อเนื่องไปอีก 2-5 ปี จากพิษภาษีบุหรี่ที่ทำให้ยอดขายบุหรี่ถูกกฎหมายลดลงแล้วเกือบร้อยละ 10

ยสท.งดซื้อใบยาสูบชาวไร่อีกฤดูกาล

นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ยอมรับว่าในฤดูกาล 2562/2563 ที่กำลังจะมาถึง ยสท.ไม่สามารถรับซื้อใบยาสูบได้เพราะมีสต็อกเหลือพอใช้ไปจนถึงปี 2566 นอกจากนี้ ยสท.จะมีกำไรลดลงเหลือเพียง 400-500 ล้านบาท จาก 900 ล้านบาทในปี 2561 (ปี 2560 ยสท.มีกำไร 9,800 ล้านบาท) โดย ยสท.เองในปีนี้ก็กำลังปรับแผนหันมาผลิตยาเส้นหลายยี่ห้อ ด้วยผลสำรวจที่พบว่าหลังจากขึ้นภาษีบุหรี่เมื่อปี 2560 ทำให้กลุ่มคนที่มีรายได้ไม่สูงและชาวบ้านในต่างจังหวัดเลิกสูบบุหรี่โดยหันไปสูบยาเส้นทดแทนกันมากขึ้นเพราะราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว

ตลาดยาเส้นคึกคัก ตปท.เตรียมบุก

แม้แต่บริษัทผู้นำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศก็คาดการณ์ไปในทางเดียวกัน โดยมองว่าเมื่อการขึ้นภาษีเป็นร้อยละ 40 ในปีนี้ จะทำให้ผู้นำเข้าต้องขึ้นราคาบุหรี่จากซองละ 60 บาทเป็นอย่างน้อยซองละ 90 บาท ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่าผู้นำเข้ากำลังเตรียมบุกตลาดยาเส้นในประเทศไทยเช่นเดียวกันเพื่อใช้เป็นสินค้าทดแทนบุหรี่ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีบุหรี่ ยังไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์การทะลักของบุหรี่หนีภาษีเข้ามาในประเทศไทยตามชายแดนทั้งภาคเหนือ อีสานและใต้

ภาษีบุหรี่สูงไม่ช่วยลดผู้สูบอย่างมีนัยสำคัญ

การสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าปีในปี 2560 คนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ร้อยละ 19.1 ลดลงเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 19.9 ในปี 2558 ทั้งๆ ที่ในช่วงระหว่างปี 2558-2560 มีการขึ้นภาษีบุหรี่ทุกปี โดยปี 2558 เริ่มเก็บเงินบำรุงกองทุนพัฒนากีฬาในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีสรรพสามิต ปี 2559 ขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่จนชนเพดานภาษีเดิม (ร้อยละ 90 ของราคาหน้าโรงงาน) และปี 2560 ขึ้นภาษีบุหรี่ตามโครงสร้างภาษีแบบใหม่และเริ่มเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต

นอกจากนี้ การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของนักสูบไทยนิยมสูบยาเส้นเป็นหลัก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ยิ่งทุกวันนี้แม้กระทั่งกรมสรรพสามิตก็ยอมรับว่าตลาดยาเส้นกำลังขยายตัว กลายเป็นว่านักสูบเปลี่ยนจากสูบบุหรี่มวนที่เสียภาษีแพง ไปสูบยาเส้นที่เสียภาษีซองละไม่ถึงหนึ่งบาท หรือแม้กระทั่งบุหรี่เถื่อนหนีภาษี โดยไม่ได้เลิกสูบแต่อย่างใด