จี้ 'กกต.' ตีความทษช. ยื่นพระนาม 'ทูลกระหม่อม' ขัดระเบียบ-รธน.

จี้ 'กกต.' ตีความทษช. ยื่นพระนาม 'ทูลกระหม่อม' ขัดระเบียบ-รธน.

"ไพบูลย์" จี้ "กกต." ตีความ "ทษช." ยื่นพระนาม "ทูลกระหม่อมอุบลรัตนฯ" ชิงนายกฯ ขัดระเบียบ-รธน.

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) – เวลา 13.00 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปประเทศ (ปชช.) เข้ายื่นหนังสือถึงนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. ขอให้กกต.พิจารณาและวินิจฉัยการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ว่าเข้าข่ายขัดต่อระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้าม ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 หมวด 4 ลักษณะต้องห้ามในการ หาเสียงเลือกตั้ง ข้อ 17 โดยระบุว่า ตนได้ทราบข่าวจากสื่อสาธารณะว่า ทษช. โดยกรรมการบริหารพรรคมีมติเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค แม้ว่าทูลกระหม่อมฯจะทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แล้ว ตั้งแต่ปี 2515 แต่ทูลกระหม่อมฯ ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อม ดังนั้นจึงทรงเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประเพณีการปกครองของประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข การที่ ทษช. ได้ยื่นเสนอพระนามในบัญชีนายกรัฐมนตรี ย่อมต้องมีการนำพระนามของทูลกระหม่อมฯไปใช้ประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคอันเป็นการเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 หมวด 4 ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ข้อ 17 ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือ ผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้าศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 6/2543 กรณีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขอบเขตของการบังคับใช้เกี่ยวกับหน้าที่ของบุคคลที่จะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยในคำวินิจฉัยดังกล่าวมีข้อสรุปเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ บทดังกล่าวไม่ใช้บังคับกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิดหรือจากการแต่งตั้ง ย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมือง ไม่ใช่เป็นเรื่องของฐานันดรศักดิ์ แต่เป็นเรื่องฐานะโดยกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงสอดรับกับคำร้องที่ตนนำมายื่นต่อประธาน กกต. จึงเห็นว่าประธานกกต.ควรรับไว้วินิจฉัยโดยเร็ว เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

เมื่อถามว่าทูลกระหม่อมฯทรงลงนามยินยอมให้ ทษช. เสนอชื่อเป็นแคนดิเดทนายกฯแล้ว นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนไม่ขอก้าวล่วงประเด็นดังกล่าว ตนมายื่นเรื่องให้ตรวจสอบการกระทำของ ทษช. ในประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งมีปัญหาเข้าข่ายที่กกต.ควรรับไว้วินิจฉัย ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กกต.

“ผมรีบเสนอความเห็นมายัง กกต. เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยการกระทำของ ทษช. ว่าเข้าข่ายขัดต่อระเบียบ กกต.หรือไม่ หากมีปัญหาขัดต่อระเบียบดังกล่าว ขอให้ กกต. สั่งให้ ทษช. ระงับการเสนอพระนามฯ ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค โดยไม่ประสงค์ให้มีการยุบพรรค ทษช. โดยเฉพาะในช่วงใกล้มีการเลือกตั้งยิ่งไม่ต้องการให้พรรคใดถูกยุบ อีกทั้งส่วนตัวก็ไม่มีปัญหากับพรรค ทษช. หัวหน้าพรรคกับผมก็เหมือนเป็นคนรุ่นหลาน การที่รีบยื่นคำร้องต่อกกต.ก็เพื่อไม่ให้ ทษช.ทำผิดมากขึ้นไปกว่านี้ แค่ต้องการให้ระงับการใช้พระนามเท่านั้น” นายไพบูลย์กล่าว