ฝากผู้ปกครองถูกเรียกแป๊ะเจี๊ยะอย่าไปเชื่อ

ฝากผู้ปกครองถูกเรียกแป๊ะเจี๊ยะอย่าไปเชื่อ

"หมอธี" มอบนโยบายกพฐ.ทำงานอย่างเป็นระบบ เผยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นพ้องมาตรการป.ป.ช.ปรับนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสพฐ.ปีการศึกษา 2562 ล้างแป๊ะเจี๊ยะ ฝากผู้ปกครองถ้ามีใครมาเรียกแป๊ะเจี๊ยะอย่าไปเชื่อ 

วันนี้ (8 ก.พ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่มี รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ. ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ.เข้าร่วม ว่า ครั้งนี้มาต้อนรับบอร์ดชุดใหม่ และมาพูดคุย เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการให้เป็นระบบ ส่งเสริมเพื่อให้นักเรียนได้รับประโยชน์สูงสุด และทำงานถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้เน้นย้ำนโยบายอะไรเป็นพิเศษ

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่าในที่ประชุมได้มีการหารือ ถึงมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับสินทรัพย์ หรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในหลักการนั้น เสียงสะท้อนจากที่ประชุม และองค์กรส่วนท้องถิ่นมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ต้องปรับปรุงประกาศ สพฐ.เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสพฐ.ปีการศึกษา 2562 เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องแป๊ะเจี๊ยะ บางยุคในอดีตมีการตั้งโต๊ะรับกันเลยแต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว และยืนยันต่างจังหวัดก็ไม่มี

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนข้อเสนอให้ยกเลิกการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ 7 ประเภทนั้น ที่ผ่านมา ศธ.ได้ชี้แจงต่อ ครม.แล้วบางเรื่องทำได้ บางเรื่องทำไม่ได้ เพราะบางเรื่องเป็นประวัติศาสตร์ก่อนเกิดเสียอีก เช่น มีการมอบที่ดินให้ตกลงเงื่อนไขให้ลูกหลานเขามีสิทธิเข้าเรียนได้ ตรงนี้อาจต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป แต่บนพื้นฐานของความถูกต้อง หากมีเกณฑ์พิเศษอะไรก็ต้องโปร่งใส อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาไม่มีกรณีแป๊ะเจี๊ยะเกิดขึ้น เเต่ปัญหาที่มันยังเกิดอยู่ เพราะต้นเหตุอาจยังไม่ได้แก้ให้ดีพอ ซึ่งหนึ่งในต้นเหตุคือเรื่องมาตรฐานการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม ทำให้ผู้ปกครองอยากให้ลูกหลานเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งได้มอบให้บอร์ดกพฐ.ดูเเลกำกับโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพ พัฒนาหลักสูตร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

"ขอฝากไปถึงผู้ปกครองว่าถ้ามีใครมาเรียกแป๊ะเจี๊ยะเป็นส่วนตัว แล้วบอกว่ารู้จักเลขาธิการ กพฐ. รู้จักรัฐมนตรี รู้จักคนนั้นคนนี้ขอยืนยันว่าไม่จริง ถ้าโรงเรียนจะมีพิเศษต้องประกาศชัดเจน และเป็นไปตามระเบียบเงื่อนไข ส่วนกรณีการย้ายทะเบียนบ้านเพื่อมาใช้สิทธิ์เด็กในพื้นที่บริการ ผมยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ แต่ กพฐ.จะพิจารณาด้วย ส่วนกรณีข้อเสนองบประมาณรายหัว ที่ให้ประเมินจากความต้องการของนักเรียนจริงๆไม่ใช่ตามขนาดโรงเรียน เเนวคิดเรื่องนี้ดี เเละ ศธ.คิดมาได้ระยะหนึ่ง เเต่ทางปฎิบัติทำไม่ได้ทั้งหมด เพราะมีผลกระทบมาก ซึ่งวันนี้ที่ประชุมจะมีการหารือเพื่อนำเเนวคิดนี้มาใช้ให้ได้"นพ.ธีระเกียรติ กล่าว