อัยการตั้งโต๊ะแจงยิบคดี 'ฮาคีม' ไม่มีใครกดดัน ทำตามขั้นตอนกฎหมาย

อัยการตั้งโต๊ะแจงยิบคดี 'ฮาคีม' ไม่มีใครกดดัน ทำตามขั้นตอนกฎหมาย

อัยการตั้งโต๊ะแจงยิบคดี "ฮาคีม" ทำตามขั้นตอนกฎหมาย ชี้ใช้หลักฐานทุกชิ้นสู้ได้ชั้นศาล แจงยังไม่มีเหตุถอนคำฟ้อง "บัวแก้ว" แนะ 2 ประเทศเจรจาเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 6 ก.พ.62 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ เวลา 14.00 น. "นายชัชชม อรรฆภิญญ์" อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด "นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์" และ "นายประยุทธ เพชรคุณ" รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงข่าวถึงขั้นตอนปฏิบัติ ข้อกฎหมายและตอบข้อซักถามประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันคดีที่ยื่นฟ้องส่งผู้ร้ายข้ามแดน “นายฮาคีม อาลี โมฮัมเหม็ด อาลี อัล โอไรบี” (Hakeem Ali Mohamed Ali Al Oraibi) หรือ “นายฮาคีม อาลี โมฮัมเหม็ด อาลี อไลราบี” (Hakeem Ali Mohamed Ali Alaraibi) อายุ 25 ปี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศบาห์เรน ตามคำขอของทางการบาห์เรน ซึ่งคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้วโดยจะเริ่มตรวจพยานหลักฐาน เดือน เม.ย.นี้

ขณะที่การแถลงดังกล่าว มี "น.ส.เสฎฐา เธียรพิลากุล" อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินการแปลคำแถลงเป็นภาษาอังกฤษด้วย โดย "นายธรัมพ์" รองโฆษกอัยการฯ เริ่มต้นแถลงว่า ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ได้มอบหมายให้พนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ ยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาไป เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ขอให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งส่งตัว "นายฮาคีม" ให้กับราชอาณาจักรบาห์เรน ประเทศผู้ร้องขอ เนื่องจากประเทศผู้ร้องขอ แจ้งว่า "นายฮาคีม" เป็นจำเลยและถูกดำเนินคดีอาญาในบาห์เรนแล้วหลบหนีไป ซึ่งกรณีดังกล่าวสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจติดตามเสนอข่าวอย่างกว้างขวาง ใกล้ชิด และต่อเนื่อง

สำนักงานอัยการสูงสุด ขอชี้แจงความเป็นมาและขั้นตอนการปฏิบัติ เกี่ยวกับคดีดังกล่าวเพื่อทราบ ดังนี้

1. กรณีนี้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.61 สำนักงานอัยการสูงสุด โดยอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางของประเทศไทย ได้รับเรื่องร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากบาห์เรน ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญา เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งส่งตัว:"นายฮาคีม" ให้กับบาห์เรน ประเทศผู้มีคำร้องขอ

2. เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับเรื่องแล้วได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องของประเทศผู้ร้องขอ ได้ความว่า "นายฮาคีม" ถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญากลาง เขต 1 แห่งราชอาณาจักรบาห์เรน ในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ และมีวัตถุระเบิด ไว้ในความครอบครอง ซึ่งต่อมาศาลอาญากลาง เขต 1 แห่งราชอาณาจักรบาห์เรน ได้มีคำพิพากษาจำคุก 10 ปี หลังจากนั้น "นายฮาคีม" ได้หลบหนีไป และมาถูกควบคุมตัวในประเทศไทยในครั้งนี้

3.ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับคำร้องขอ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องของประเทศผู้ร้องขอ เพื่อขอให้ส่ง "นายฮาคีม" เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีอาญานั้น เป็นข้อกล่าวหาคดีอาญา ซึ่งเป็นการกระทำที่ได้บัญญัติให้เป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศไทยด้วย และข้อหาต่างๆ ดังกล่าว มีอัตราโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ปี อีกทั้งไม่ใช่ความผิดทางการเมืองหรือความผิดทางการทหาร กรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์และข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551

4. ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.62 สำนักงานอัยการสูงสุด โดยอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลาง จึงมอบหมายให้พนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ ยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญา เพื่อให้ศาลเบิกตัว "นายฮาคีม" มาพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมาย โดยวันที่ 4 ก.พ. ศาลอาญาได้เบิกตัว "นายฮาคีม" มาเพื่อสอบปากคำแล้ว "นายฮาคีม ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดและไม่ยินยอมกลับไปที่ราชอาณาจักรบาห์เรน ศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้ "นายฮาคีม" และทนายของนายฮาคีม ยื่นคำคัดค้านเข้ามาภายในวันที่ 5 เม.ย.นี้ และนัดตรวจสอบพยานทั้งสองฝ่ายในวันที่ 22 เม.ย.

ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า "นายฮาคีม" เดินทางเข้าประเทศไทย และถูกควบคุมตัวตามหมายแดงของอินเตอร์โพล แต่ภายหลังมีการแจ้งถอนหมายแดงดังกล่าว แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของไทยใช้อำนาจใดควบคุมตัว โดยการกระทำนั้นจะส่งผลให้การควบคุมตัวไม่ชอบและจะส่งผลต่อคำสั่งศาลหรือไม่ "นายธรัมพ์" รองโฆษกอัยการ กล่าวว่า การควบคุมตัว "นายฮาคีม" ไม่ใช่อำนาจของอัยการ ตม.น่าจะตรวจสอบเอกสารการแสดงตัว พาสปอร์ต และวีซ่า ในการเข้าประเทศถูกต้องหรือไม่ เพราะกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองเป็นเรื่องการกักตัวไว้เพื่อตรวจสอบเอกสารยังไม่เข้าสู่กระบวนการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน โดยอัยการสูงสุดรับเรื่องเข้ามาเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเราทราบข้อมูลว่าทางบาห์เรน จะขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนหลังจากที่ "นายฮาคีม" เดินทางเข้าประเทศไทยมาแล้ว

เมื่อถามว่า หากการควบคุมตัวไม่ชอบ จะทำให้กระบวนการขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไม่ชอบด้วยหรือไม่ "นายธรัมพ์" รองโฆษกอัยการ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ ตม. จะเป็นผู้ชี้แจงมากกว่า อัยการไม่สามารถตอบได้ เมื่อถามอีกว่า ภายหลังมีการกักตัว "นายฮาคีม" แล้ว มีผู้บริหารของออสเตรเลีย พยายามเข้ามาเจรจากับอัยการ ซึ่งอัยการได้แจ้งว่านายกรัฐมนตรี ประสงค์จะให้อัยการยื่นเรื่องขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจริงหรือไม่ "นายธรัมพ์" กล่าวว่า สำนักงานอัยการสูงสุดไม่มีข้อมูลตรงนี้ จึงไม่สามารถตอบสื่อมวลชนได้ ส่วนที่ "นายฮาคีม" มีสถานะผู้ลี้ภัยของประเทศออสเตรเลียกับเรื่องการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนนั้นเป็นคนละประเด็นกัน

"จุดยืนของรัฐบาลไทย คือ เมื่อเรื่องนี้ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค.แล้วเราจึงได้ไปยื่นขอหมายจับต่อศาลอาญาจึงถือว่าได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ฉะนั้นจุดยืนของรัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรมไทย เรื่องนี้เราต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจนกว่าศาลจะมีคำสั่ง ดังนั้นเราอย่าด่วนสรุปว่าศาลจะตัดสินว่าอย่างไร และขอเรียนว่ากระบวนการยุติธรรมไทย มีมาตรฐานและจะคุ้มครองรักษาสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้อง" รองโฆษกอัยการ กล่าวย้ำ

เมื่อถามว่า หากมีการยื่นประกัน "นายฮาคีม" อีกครั้ง อัยการจะคัดค้านหรือไม่ "นายธรัมพ์" กล่าวว่า ก่อนหน้านี้อัยการได้ยื่นคัดค้านการประกันตัวต่อศาลไปแล้ว ส่วนจะได้ประกันตัวหรือไม่อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล ซึ่งการคัดค้านประกันตัวของอัยการนั้นก็มีอยู่ในของกฎหมาย และอัยการมีหลักปฏิบัติลักษณะเช่นนี้มาโดยตลอด ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ หรือเฉพาะเจาะจง "นายฮาคีม" เมื่อถามต่อว่า ต่างประเทศมองว่าคดี "นายฮาคีม" เป็นคดีทางการเมือง แต่อัยการพิจารณาอย่างไรว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์คดีการเมือง "นายธรัมพ์" กล่าวว่า เราได้ดูข้อหาความผิดที่ทางการบาห์เรนแจ้งมา ว่าเป็นความผิดตามกฎหมายไทยด้วยหรือไม่ และข้อหาวางเผลิงเผาทรัพย์ที่มีการแจ้งมาก็เป็นความผิดตามกฎหมายไทยด้วยทั้งสิ้น ส่วนจะเป็นประเด็นการเมืองหรือไม่นั้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว "นายฮาคีม" ก็สามารถนำเสนอหลักฐานต่างๆ ต่อศาลได้

เมื่อถามว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนั้น อยู่ช่วงการชุมนุมของประเทศบาห์เรน ใช่หรือไม่ "นายธรัมพ์" กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว ให้รอตรงนั้น เมื่อถามว่า ขณะนี้ทั้งประเทศบาห์เรน และออสเตรเลียต่างก็ต้องการได้ตัว "นายฮาคีม" กลับไป แล้วอัยการมีความกดดันจากฝ่ายบริหารหรือไม่ "นายธรัมพ์" กล่าวยืนยันว่า ไม่มีการกดดันจากฝ่ายไหนทั้งสิ้น และไม่เคยมีการพูดคุยกับฝ่ายบริหารเรื่องการพิจารณาส่งตัว "นายฮาคีม" เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ส่วนกระแสความไม่พอใจจากประเทศออสเตรเลียนั้นอัยการก็ได้ทราบจากสื่อมวลชน เมื่อถามว่า เรื่องที่ประเทศออสเตรเลียไม่พอใจ จะเป็นเรื่องที่อัยการสูงสุด สามารถใช้ช่องว่างถอนคำฟ้องตามระเบียบคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องที่อาจจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้หรือไม่ "นายธรัมพ์" รองโฆษกอัยการ กล่าวว่า ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะมีกระทรวงการต่างประเทศดูแลอยู่ คงไม่เกี่ยวอัยการที่จะพิจารณา

เมื่อถามย้ำว่า อัยการจะยังสามารถถอนฟ้องกรณี "นายฮาคีม" ได้หรือไม่ และจะพิจารณาในเรื่องนี้ได้หรือไม่ "นายธรัมพ์" กล่าวว่า ไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้ ต้องรอกระบวนการพิจารณาของศาล ส่วนเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้ประเทศบาห์เรนและออสเตรเลียพูดคุยกันนั้นหากมีทางออกก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง แต่ขณะนี้ยังไม่มีเรื่องที่เข้ามาสู่การพิจารณาของอัยการ แต่กว่าศาลจะมีคำสั่งก็อาจจะเป็นรัฐบาลที่เปลี่ยนแล้วก็ได้ เมื่อถึงตอนนั้นก็ต้องมาดูอีกครั้งว่ามีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ตอนนี้เราต้องรอคำสั่งของศาล เมื่อถามถึงหลักสิทธิมนุษยชนที่ต่างประเทศมองประเทศไทยและการพิจารณาคดีจะใช้ระยะนานเท่าใด "นายธรัมพ์" กล่าวว่า ข้อกังวลของ "นายฮาคีม" ในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้ลี้ภัยนั้น ต้องบอกว่า เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ข้อต่อสู้ต่างๆ เหล่านี้สามารถที่จะนำเสนอขึ้นสู่การพิจารณาของศาลได้ ฝ่าย "นายฮาคีม" สามารถนำสืบให้ศาลพิจารณาได้ ส่วนจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน ก็คงต้องใช้ระยะเวลาตามขั้นตอนของกฎหมาย อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน

เมื่อถามว่า ก่อนที่อัยการจะยื่นเรื่องของส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน "นายฮาคีม" ได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการหรือไม่ ในการยื่นหลักฐาน เช่นข้อมูลที่อ้างว่า ตอนเกิดเหตุตามที่อัยการบาห์เรนฟ้องนั้น "นายฮาคีม" ไปแข่งขันฟุตบอล และเหตุการณ์ที่ถูกฟ้องเป็นช่วงระหว่างชุมนุมทางการเมือง ทำให้ "นายฮาคีม" ได้สถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง "นายธรัมพ์" รองโฆษกอัยการ กล่าวว่า ข้อมูลทั้งหมดเป็นรายละเอียดในการพิจารณาคดีของประเทศบาห์เรน แต่อัยการจะพิจารณาในองค์ประกอบเบื้องต้นว่ากรณีนี้จะเข้าข่ายลักษณะขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้หรือไม่ ส่วนรายละเอียดการพิจารณาคดีในส่วนของทางการบาห์เรน อัยการไม่ได้ลงไปพิจารณาในส่วนนั้น และ "นายฮาคีม" เองก็ไม่ได้ยื่นของความเป็นธรรมมาแต่อย่างใด

ขณะที่ "นายชัชชม" อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวเสริมว่า ที่อัยการคัดค้านประกันตัว เพราะว่าผู้ถูกร้องเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติธรรมดา เพราะจากสถิติมีชาวต่างประเทศมักจะหลบหนีประกันจำนวนมาก เพราะฉะนั้นหากผู้ถูกร้องหรือผู้ต้องหาเป็นชาวต่างประเทศ ในคดีขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน อัยการก็จะคัดค้านทุกคดี เมื่อถามว่า หมายแดงของอินเตอร์โพล ถือว่าเป็นหมายจับหรือไม่ และเรามีอำนาจที่จะต้องจับกุมตามหมายแดงอินเตอร์โพลนั้นหรือไม่ "นายชัชชม" กล่าวว่า หมายแดงนั้น คือหมายจับของอินเตอร์โพล ที่เวลามีการแจ้งลงระบบก็จะรับทราบทั่วกันในหมู่ที่เป็นสมาชิก ถือเป็นการแจ้งเตือนให้ประเทศที่ได้รับแจ้งทราบว่ามีบุคคลที่มีหมายจับติดตัวอยู่ ประกอบกับเราได้รับแจ้งจากทางการบาห์เรนทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จึงได้กักตัวนายฮาคีมไว้

เมื่อถามว่า ประเทศไทยไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศบาห์เรน เราใช้หลักการอะไรในการฟ้องนายฮาคีม "นายชัชชม" อธ.อัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวว่า การส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นกระบวนการอย่างหนึ่งของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทั่วโลกที่จะช่วยกัน ในการติดตามจับคนร้าย ซึ่งมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ แบบมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน และแบบไม่มีสนธิสัญญา แต่กรณีที่ไม่สนธิสัญญาก็จะต้องใช้ขั้นตอนที่มากขึ้น เช่น จะต้องมีคารับรองต่างตอบแทน ประเทศผู้ขอจะต้องระบุไว้เลยว่าหากอนาคตประเทศไทยจะขอความร่วมมือก็จะต้องช่วยกัน ตรงนี้ต้องเขียนไว้ให้ชัดเจน และความผิดที่มีการขอส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องตรงกันของทั้งสองประเทศ และจะต้องใช้วิธีทางการทูต คือจะต้องส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศ คดีนี้พนักงานอัยการได้ตรวจดูแล้ว เห็นว่าเข้าเกณฑ์ครบทุกประเด็น เราจึงดำเนินการให้ "นายชัชชม" กล่าวอีกว่า ความผิดดังกล่าวศาลบาห์เรนมีคำพิพากษาแล้ว เพราะการไปวางเพลิงเผาทรัพย์และมีวัตถุระเบิดถือว่าเป็นความผิดอาญา ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง อัยการจึงมีความเห็นและดำเนินการไปดังกล่าว

ขณะที่ "นายประยุทธ" รองโฆษกอัยการ กล่าวถึงขั้นตอนพิจารณาในชั้นศาลว่า การพิจารณาของศาล จะช้าหรือเร็ว จะต้องดูพยานหลักฐานว่ามีมากน้อยเพียงใด ก็จะต้องดูวันที่ 22 เม.ย.นี้ว่ามีการเสนอบัญชีพยานให้ศาลตรวจพยาน มากน้อยแค่ไหน ตรงนี้จะเป็นประเด็นที่จะชี้ให้เห็นว่าจะต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใด อย่างไรก็ตามศาลไทยมีหลักกระบวนการพิจารณาอย่างรวดเร็ว เพราะความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรมอยู่แล้ว