"แมร์เคิล"หารือทีมงานสกัดหัวเว่ยล้วงความลับ

"แมร์เคิล"หารือทีมงานสกัดหัวเว่ยล้วงความลับ

นายกฯ เยอรมนีแนะเฝ้าระวัง บ.จีน เตรียมคุยรัฐบาลเพื่อรับรองว่าหัวเว่ยจะไม่ส่งข้อมูลส่วนตัวให้ปักกิ่ง ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี แสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยเคโอในกรุงโตเกียว วานนี้ (5 ก.พ.) ว่า ในเยอรมนีมีการถกเถียงกันมากเรื่องการใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จากจีน ที่ตอนนี้มีเสียงเรียกร้องหนาหูกีดกันไม่ให้บริษัทได้ขยายเครือข่าย 5 จีทั่วโลก

ถึงขณะนี้  เยอรมนีได้ใช้มาตรการเฝ้าระวัง ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกล่าวว่า ยังไม่พบหลักฐานหัวเว่ยใช้อุปกรณ์สืบราชการลับให้รัฐบาลปักกิ่ง แต่นางแมร์เคิลย้ำว่าจำเป็นต้องคุยกับปักกิ่งเพื่อให้มั่นใจว่า หัวเว่ยจะไม่ยอมส่งข้อมูลทั้งหมดที่ตนใช้ให้กับรัฐจีน ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันเพื่อสร้างหลักประกันว่า “เมื่อคุณทำงานในเยอรมนี รัฐจีนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ใช้บนสินค้าจีนทุกชนิด”

หัวเว่ย โดดเด่นเรื่องสินค้าราคาถูกจึงเติบโตอย่างเงียบๆ กลายเป็นซัพพลายเออร์อุปกรณ์สำคัญให้กับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะในตลาดกำลังพัฒนา แต่ระยะหลังชาติตะวันตกปฏิเสธหัวเว่ยมากขึ้น เกรงว่าอุปกรณ์ของบริษัทนี้จะกลายเป็นม้าไม้โทรจันให้กับรัฐบาลปักกิ่ง เนื่องจากกฎหมายจีนกำหนดให้บริษัทของตนต้องร่วมมือกับหน่วยข่าวกรอง ซึ่งหัวเว่ยปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้ล้วงความลับใดๆ

อย่างไรก็ตาม นายกฯ เยอรมนีกล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยของอุปกรณ์หัวเว่ยจะต้องอภิปรายและหารือกันต่อไป และต้องนำไปปรึกษากับสหรัฐด้วย ยิ่งจีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นย่อมหมายความว่า ความรับผิดชอบต่อระเบียบโลกก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย

นางแมร์เคิล แนะนำให้จีนเพิ่มบทบาทต่อระเบียบโลกด้วยเช่นกัน เช่น การเข้าร่วมในภารกิจของสหประชาชน ที่จีนมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นทุกที

ถ้อยแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่นางแมร์เคิลเยือนญี่ปุ่นเป็นเวลา 2 วัน โดยเข้าพบนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ และเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อวันจันทร์ (4 ก.พ.) และร่วมการเจรจาผู้นำภาคธุรกิจญี่ปุ่น-เยอรมนี ซึ่งระหว่างที่นายกรัฐมนตรี 2 ประเทศพบกันเมื่อวันจันทร์ ทั้งสองเห็นชอบเพิ่มความร่วมมือทวิภาคีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ท่ามกลางกระแสกีดกันทางการค้าและความวุ่นวายเมื่ออังกฤษออกจากสหภาพยุโรป