สทน.สร้างวิจัย-คนนิวเคลียร์ฟิวชั่น

สทน.สร้างวิจัย-คนนิวเคลียร์ฟิวชั่น

สทน.โฟกัสใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ขับเคลื่อน 3 ส่วนหลัก “แพทย์-เกษตร-อุตฯ” รับความต้องการภาคเอกชน พร้อมเตรียมคนและองค์ความรู้นิวเคลียร์ฟิวชั่น ปูทางด้านพลังงานในอนาคต

นายพรเทพ นิศามณีพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. กล่าวในการประชุมนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “Nuclear for Better Life นิวเคลียร์เพื่ออนาคตที่ดีกว่า” ว่า แนวโน้มของโลกมุ่งไปที่การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในด้านที่ไม่ใช่พลังงาน (Non-Power) เช่นเดียวกับไทยที่มุ่งเน้นใน 3 ด้านหลักคือ การแพทย์ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

ญี่ปุ่นและเกาหลีเป็น 2 ประเทศที่ใช้นิวเคลียร์ในงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับพลังงาน และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์รวมถึงการใช้กระบวนการทางนิวเคลียร์สกัดและแปรรูปสมุนไพร สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างมากมาย ซึ่งไทยจะขับเคลื่อนไปในโมเดลเดียวกับเกาหลี

ยกตัวอย่างผลงานวิจัยจาก สทน. เช่น โพลีเมอร์อุ้มน้ำเพื่อการเกษตรผลิตจากแป้งมันสำปะหลัง สามารถนำมาใช้ผสมดินเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติการอุ้มน้ำในแปลงปลูก ที่มีพื้นที่แห้งแล้ง หรือสามารถใช้ผสมกับดินช่วยลดความถี่ในการรดน้ำต้นไม้ นำไปทดลองกับพืชไร่ได้ผลดี และส่งต่อให้กับเกษตรกรไปใช้ประโยชน์แล้ว

ผลิตภัณฑ์ไอโซโทปรังสีวินิจฉัยโรค บรรเทาอาการของโรค หรือแม้แต่รักษาโรค สทน. ก็พัฒนาต่อยอดเพื่อวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคมะเร็ง ให้แพทย์วางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่งให้กับโรงพยาบาล 23 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังใช้ไอโซโทปบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในงานโบราณคดี สิ่งแวดล้อม เช่น การตรวจวิเคราะห์ก๊าซเรดอน

“ความต้องการใช้เครื่องไซโครตรอนเพื่องานเภสัชรังสีมีเพิ่มขึ้น เราจึงได้เตรียมก่อสร้างเครื่องไซโครตรอน เครื่องที่ 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565-2566 และพร้อมรับความต้องการทั้งในด้านการวิจัยและบริการวิชาการให้กับภาคเอกชน” พรเทพชี้

การตอบรับของผู้ประกอบการเป็นไปในทิศทางบวก โดยเฉพาะด้านการแพทย์ที่มีเพิ่มขึ้นจนรองรับได้ไม่พอกับความต้องการ ในขณะที่ด้านการเกษตรนั้น มีการใช้นิวเคลียร์ฉายรังสีผลไม้เพื่อการส่งออกตามมาตรฐานของสหรัฐ

นายพรเทพ กล่าวว่า ฟิวชั่น เป็นเทคโนโลยีอนาคตสำหรับพลังงานที่มาจากนิวธิเลียมและลิเธียม และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยประเทศไทยยังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้ และต้องการกำลังคนจำนวนมาก

“เราต้องการถึง 100 คนที่จะทำงานด้านนิวเคลียร์ฟิวชั่น เพื่อรับมืออนาคต แต่ปัจจุบันที่เป็นช่วงเริ่มต้นนี้ ได้รวบรวมนักวิจัยที่ทำเรื่องของพลาสม่าฟิวชั่น และรวมกันเป็นคลัสเตอร์”

การเตรียมความพร้อมดังกล่าว เป็นไปตามเป้าพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันให้เป็นแหล่งพลังงานสะอาดเพื่ออนาคต ที่บรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ปี 2560-2569 ของคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

ตลอดจนแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างองค์ความรู้และบุคลากรเตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยีสำคัญของโลกในอนาคต นอกจากองค์ความรู้และศักยภาพแล้ว จิตสำนึกและความรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนิวเคลียร์เป็นเรื่องของความปลอดภัย