'พาณิชย์' เผยสถิติการค้า-การลงทุนระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่ค้าโตต่อเนื่อง

'พาณิชย์' เผยสถิติการค้า-การลงทุนระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่ค้าโตต่อเนื่อง

"พาณิชย์" เผยสถิติการค้า-การลงทุนระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่ค้าโตต่อเนื่อง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย 12 ฉบับ 17 ประเทศ ตลอดทั้งปี 2561 พบว่า มูลค่าการค้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศคู่เอฟทีเอที่ไทยมีมูลค่าการค้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) อาเซียน มีมูลค่าการค้า 113.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าร้อยละ 13 โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น (2) จีน มีมูลค่าการค้า 80.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.7 สินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (3) ญี่ปุ่น มีมูลค่าการค้า 60.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 11.2

สินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกล เครื่องโทรสาร และโทรศัพท์ เป็นต้น สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น เครื่องจักรกล เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ (4) ออสเตรเลีย มีมูลค่าการค้า 16.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 12 สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋อง และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะ ถ่านหิน และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น และ (5) เกาหลี มีมูลค่าการค้า 13.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.8 สินค้าส่งออกของไทย เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และเคมีภัณฑ์ สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้า และสินแร่โลหะ เป็นต้น

640_kjha9b755g7aifdk5aba9

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ ในปี 2561 ช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) พบว่า ไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออก เป็นมูลค่าที่ใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) อาเซียน มูลค่า 24.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 36.2 ของมูลค่าการส่งออกไปอาเซียน (2) จีน มูลค่า 16.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 53.7 ของมูลค่าการส่งออกไปจีน (3) ออสเตรเลีย มูลค่า 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 79.5 ของมูลค่าการส่งออกไปออสเตรเลีย (4) ญี่ปุ่น มูลค่า 7.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 28.2 ของมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่น และ (5) อินเดีย มูลค่า 4.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 53.9 ของมูลค่าการส่งออกไปอินเดีย ทั้งนี้ ไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการนำเข้า เป็นมูลค่าที่ใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) จีน มูลค่า 12.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 26.6 ของการนำเข้าจากจีน (2) อาเซียน มูลค่า 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 20.3 ของการนำเข้าจากอาเซียน (3) ญี่ปุ่น มูลค่า 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 23.4 ของการนำเข้าจากญี่ปุ่น (4) เกาหลีใต้ มูลค่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 27.4 ของการนำเข้าจากเกาหลีใต้ และ (5) ออสเตรเลีย มูลค่า 0.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 11.9 ของการนำเข้าจากออสเตรเลีย

นางอรมน เสริมว่า อาเซียนยังคงครองตำแหน่งประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนการค้ามากถึงร้อยละ 22.7 นอกจากนี้ ในปี 2562 นี้ ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ได้มีการนำเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของไทยเช่น การเชื่อมโยงเอกสารใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียนทางอิเล็กทรอนิกส์ การเร่งอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลกฎระเบียบการค้าของอาเซียน ทั้งอัตราภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี การเตรียมบุคลากรรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 เป็นต้นผู้ประกอบการไทยสามารถเช็คข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ ได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://ftacenter.dtn.go.th หรือศูนย์เอฟทีเอเซ็นเตอร์ ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือหมายเลข 02-507-7555 และอีเมล์ [email protected]