ชี้แหลมฉบังเฟส3ฉลุย เอกชนสนใจร่วมประมูล

ชี้แหลมฉบังเฟส3ฉลุย เอกชนสนใจร่วมประมูล

กทท.ปลดล็อคทีโออาร์แหลมฉบังเฟส 3 เปิดช่องใช้ประสบการณ์เครือข่าย หรือผู้รับจ้างยื่นข้อเสนอแทน ทั้งยังสามารถเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ดึงรัฐวิสาหกิจร่วมทุนได้ หวังจูงใจประมูลคึกคัก ขณะที่ประเดิมขายซอง 5 วันแรก เอกชนไทย-เทศ แห่ซื้อซองแล้ว 22 ราย

ร้อยตำรวจตรีมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่ากทท.ได้ออกประกาศขายซองเอกสารคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่3ในส่วนของท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่ามีเอกชนตอบรับร่วมซื้อซองเอกสาร ณ วันที่ 4 ก.พ.2562 จำนวน 22 รายประกอบไปด้วยเอกชนรายเดิมที่เคยซื้อซองเอกสารแล้วในการประมูลครั้งก่อนจำนวน 18 ราย คือ 1.ITOCHU Corporation2.บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 3.บริษัทบางกอกโมเดอร์นเทอร์มินอลจำกัด4.บริษัทพีทีทีแทงค์เทอร์มินัลจำกัด 5.China Railway Construction Corporation Limited

6.PSA international Pte Ltd 7.บริษัททีไอพีเอสจำกัด8.บริษัทบี เอ็มทีแปซิฟิกจำกัด 9.บริษัท ซี.อาร์.ซี.การท่าเรือจำกัด 10.บริษัท CHEC 11.บริษัท MITSUI & CO., LTD 12.บริษัทพีเอชเอสออแกนิคฮิลลิ่งจำกัด 13.บริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด 14.บริษัทฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด 15.Laem Chabang International Terminal Co., LTD16.บริษัทJWD 17.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ18.China Merchants Port Holding Company Limited

ขณะเดียวกันยังมีเอกชนรายใหม่ร่วมซื้อซองเอกสาร 4 ราย คือ 1.บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) 2.PSA S E Asia Pte Ltd 3.Van Oord Dredging and Marine Contractora b.v. และ 4.Evergreen Container Terminal (Thailand)

ชี้แหลมฉบังเฟส3ฉลุย เอกชนสนใจร่วมประมูล

คมนาคมมั่นใจมีผู้ยื่นซอง

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มั่นใจว่าการเปิดประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ครั้งใหม่นี้ จะมีเอกชนสนใจร่วมประมูลโครงการเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน เพราะปัจจุบัน กทท.ได้ปรับทีโออาร์ลดเงื่อนไขข้อจำกัดที่ไม่เอื้อเอกชนแล้ว เช่น ประสบการณ์การบริหารท่าเรือ โดยขณะนี้พบว่ามีเอกชนทั้งรายเดิมและรายใหม่แสดงความสนใจมาซื้อซองเอกสารโครงการจำนวนมาก ซึ่งเอกชนรายเดิมไม่ต้องซื้อใหม่ทั้งหมด เป็นการซื้อเพิ่มเติมในราคา 5,350 บาท แต่มั่นใจว่าอีก 3–4 เดือนหลังจากนี้ จะเริ่มเห็นความชัดเจนของโครงการในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามานั้นก็จะต้องสานต่อโครงการ

นายอาณัติ มัชฌิมา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ฮัทชิสันอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 พร้อมหารือร่วมกับพันธมิตรถึงโอกาสทางการลงทุน เพราะโครงการนี้ต้องศึกษาอย่างละเอียด เนื่องจากอยู่ในพื้นที่น้ำทั้งหมด เอกชนจำเป็นต้องก่อสร้างพื้นดินเอง ไม่เหมือนกับโครงการท่าเรือแหลมฉบังที่ผ่านมา ทำให้เป็นเรื่องที่ยากและต้องหารือร่วมพันธมิตรเพิ่มเติม

กกท.ปลดล็อกทีโออาร์

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การเปิดขายซองเอกสารรอบใหม่นี้ กทท.ปรับเงื่อนไขเพื่อปลดล็อคให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น อาทิ เอกชนยื่นประสบการณ์ของเครือข่ายผู้ยื่นข้อเสนอ หรือผู้รับจ้างของผู้ยื่นข้อเสนอแทนประสบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอได้ แต่ต้องมีประสบการณ์ประกอบการด้านบริหารจัดการท่าเทียบเรือตู้สินค้าระหว่างประเทศภายใต้ 1 สัญญามาไม่น้อยกว่า 10 ปี ส่วนกรณีใช้ประสบการณ์ของผู้รับจ้างเข้ามายื่นข้อเสนอ ผู้รับจ้างต้องแสดงความเกี่ยวข้องในงานโครงการที่ผู้รับจ้างเคยมีประสบการณ์มา และหากต้องการเปลี่ยนแปลงผู้รับจ้างก็ทำได้ แต้ต้องเป็นผู้รับจ้างที่มีคุณสมบัติเท่าเทียมหรือดีกว่าผู้รับจ้างรายเดิม อีกทั้งต้องได้รับการอนุมัติจาก กทท.ด้วย

นอกจากนี้ ยังปรับหลักเกณฑ์ในส่วนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยกำหนดให้สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นได้ โดยกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นแล้วผู้ถือหุ้นรายใหม่มีคุณสมบัติเทียบเท่าหรือดีกว่าผู้ถือหุ้นรายเดิม หรือกรณีที่เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเพื่อให้รัฐวิสาหกิจมาถือครองหุ้นในเอกชนคู่สัญญาเพื่อร่วมลงทุนโครงการฯ แต่จะต้องไม่ทำให้สัดส่วนการลงทุนของผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินลดลงต่ำกว่า51%ของทั้งหมด แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องได้รับการอนุมัติจาก กทท. ซึ่งแตกต่างจากเงื่อนไขเดิมที่ว่าเอกชนที่จะรวมกลุ่มกันมาประมูลห้ามปรับเปลี่ยนตัวพันธมิตรภายใน 10 ปี แต่ยังเปลี่ยนสัดส่วนการร่วมทุนได้ โดยเฉพาะพันธมิตรแกนหลักที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารท่าเรือ

เปิดยื่นซองประมูล 29 มี.ค.นี้

ทั้งนี้ โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะขายซองเอกสารรอบใหม่จนถึงวันที่ 8 ก.พ.นี้ และยื่นซองวันที่ 29 มี.ค.นี้ โดนคณะกรรมการคัดเลือกจะเปิดซองข้อเสนอที่ 1 (เอกสารหลักฐานการยื่นข้อเสนอ) และซองข้อเสนอที่ 2 (ซองคุณสมบัติ) ในวันเดียวกัน
สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาจะประเมินตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเท่านั้น ทำให้การพิจารณาเอกสารซองดังกล่าวจะมีเพียงผู้ผ่านการพิจารณาและไม่ผ่านการพิจารณา ส่วนหลักเกณฑ์ซอง2จะพิจารณาถึงคุณสมบัติทั่วไปของผู้ยื่นประมูล ขณะที่หลักเกณฑ์พิจารณาซอง 3 จะประเมินแบบมีให้คะแนน มีคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยจะแบ่งออกเป็น 7 หมวดหมู่

โดยผู้ยื่นข้อเสนอที่จะผ่านเกณฑ์การประเมินในซอง 3 จะต้องมีคะแนนในแต่ละหมวดหมู่ทั้ง 7 หมวดหมู่ จะต้องได้อย่างน้อย 70% และคะแนนรวมของทุกหมวดหมู่รวมกันจะต้องได้อย่างน้อย 80% หรือ 80 คะแนน จากคะแนนรวมทั้งหมด 100 คะแนน ส่วนเกณฑ์การประเมินซอง 4 ผู้ที่ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด

นอกจากนี้ในทีโออาร์ฉบับแก้ไข ยังเพิ่มรายละเอียดการพิจารณาซอง 4 โดยกำหนดว่าข้อเสนอซอง 4 หากผู้ยื่นข้อเสนอมีข้อเสนอที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขบางประการ คณะกรรมการคัดเลือกฯ สงวนสิทธิ์ที่จะไม่พิจารณาข้อเสนอนั้น และถือว่าข้อเสนอนั้นเป็นอันตกไป
ขณะที่การประเมินซอง 5 ข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการนั้น ยังคงกำหนดจะไม่ถูกนำมาใช้ในการประเมินผู้ยื่นข้อเสนอ