แกะรอย “3เอสเอ็มอี” ท้าฝัน พลิกแมวเป็นเสือคำราม

แกะรอย “3เอสเอ็มอี” ท้าฝัน พลิกแมวเป็นเสือคำราม

ส่อง 3 ธุรกิจเอสเอ็มอี แบรนด์น้องใหม่ ผู้พกความกล้า คิดนอกกรอบ หาความต่างในตลาดเดิม สานไอเดียธุรกิจที่มีอยู่ในหัว จนสร้างสินค้า แบรนด์และธุรกิจให้กลายเป็นจริง

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) จัดงานสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)ภายใต้ชื่อ “กล้าD Festivalปรับ เปลี่ยน ลุก เดิน” โดยรวมพลคนทำธุรกิจมาจัดงานแสดงสินค้าและฟังสัมมนาเติมความรู้ “SMEs D-Show Story telling ธุรกิจพุ่งแรงสู่ความสำเร็จ” มีแบรนด์เอสเอ็มอีไทย 3 รายมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์วิถีคนกล้า ความเป็นมาของธุรกิจและเทคนิคในการประสบความสำเร็จ

นภาพร คูศิริวานิชกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคโคแรบบิท จำกัด น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เลือกเข้าสู่ถนนนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ทั้งที่ชีวิตพร้อมทุกอย่าง หน้าที่การงาน ตำแหน่งที่มั่นคง เงินเดือน และสวัสดิการระดับผู้บริหาร แต่เพราะเป็นคนชอบคิดนอกรอบ ไม่ชอบงานรูทีน และมีฝันต้องการเป็นเจ้าของกิจการ

ที่สำคัญมองตัวเองในวัยเกษียณ มีกิจการที่เลี้ยงตัวเอง ยังดีกว่าเป็นพนักงานประจำจนเกษียรแล้วเริ่มต้นธุรกิจ พลังอาจจะถดถอย และเสี่ยงเกินไปกับการเริ่มต้นสิ่งใหม่

“ถ้าคิดนอกกรอบไปได้ อาจจะมีช่องทางที่ดีกว่าตรงนั้น เพื่อนคนอื่นไม่กล้า แต่เราชอบอิสระ ไม่ชอบรูทีน แม้กำลังเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่ชอบค้าขายมากกว่า”

อดีตผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันการเงิน ยอมละทิ้งหัวโขนที่เธอคิดว่าไม่ยั่งยืน มาเริ่มต้นสิ่งที่รัก ในกลุ่มธุรกิจสุขภาพและความงาม พัฒนาผลิตภัณฑ์ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น สินค้าที่ใช้อยู่ประจำ และมีความชำนาญ

“เป็นคนรักสวยรักงามอยู่แล้ว จึงเริ่มจากสิ่งที่รักและใช้ดีจึงอยากบอกต่อ โดยใช้ความรู้จากเคยทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง ออร์แกนิค จึงตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองที่รู้สึกอยากทำจากข้างใน”

ตลาดแรกที่ขายคือ ต่างประเทศ เพราะไม่อยากแข่งขันดุเดือดในน่านน้ำสีแดงภายในประเทศ เพราะน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นมีอยู่เกลื่อน ส่วนลูกค้าต่างแดน กำลังเป็นที่ต้องการมหาศาล นี่จึงเป็นมาของน้ำมันมะพร้าวแบรนด์ โคโคแรบบิท โดยการหมั่นออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เพื่อรู้จักคน พาตัวเองออกไปสู่โลกภายนอก

สิ่งหนึ่งที่ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในช่วงเริ่มต้น มาจากเครือข่ายคอนเน็คชั่นของตัวเองเมื่อครั้งที่นั่งเป็นผู้บริหารในสถาบันการเงิน 

“เป็นคนเพื่อนเยอะ มีแต่คนดีและเราต้องดีพอ คอนเน็คชั่นสำคัญ เมื่อเรารู้จักกันเยอะ แนะนำสินค้าให้เป็นที่รู้จัก จนไปต่างประเทศ ต้องการน้ำมันมะพร้าวจากไทยสูงมากในหลายประเทศ ส่วนในไทยเราต้องสู้กับหลายๆแบรนด์”

เธอเล่าว่า สิ่งที่ทำให้โคโคแรบบิท สำเร็จ คือความคิดเชิงบวก เชื่อมั่นว่าขายได้ และทำได้ เมื่อมั่นใจสุดท้ายก็หาหนทางสำเร็จได้

พงษ์พันธ์ ไชยนิล เจ้าของธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา “บ้านดินมอญ” ทายาทรุ่นที่ของเครื่องปั้นดินเผา ในเกาะเกร็ด ผู้ซึ่งจบด้านงานศิลป์จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็ยังมุ่งมั่นจะทำงานปั้นดินเผาไปพร้อมกันกับ เป็นครูสอนศิลปะ ในโรงเรียนนานาชาติ แม้ย่าจะเตือนว่าให้ออกจากธุรกิจนี้ เพราะคนในตระกูลตั้งแต่รุ่นก่อนๆ ไม่มีใครร่ำรวยจากมรดกประจำตระกูลด้านงานปั้นนี้

ทว่าในเมื่อใจมันรัก หลังจากได้ฝึกฝนงานปั้นตั้งแต่อายุ10ขวบ จึงนำภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนมาดัดแปลงงานออกแบบนำเสนอในมุมมองใหม่ๆ ครั้งแรกที่ขายพลิกตลาดคนในชุมชน เพราะงานปั้นทั่วไปของรายอื่นขายในราคา 100 บาทต่อชิ้น แต่เขาขายในราคา 1,000 บาทต่อชิ้น

“เพราะเชื่อว่าของเราแตกต่างกว่าทุกเจ้า เจ้าอื่นขายงานก็อปปี้ชิ้นละ 100 บาทเหมือนกันหมดทุกร้าน ส่วนเราชิ้นละพันเพราะใช้เวลาทำนานกว่า 1 เดือนมีชิ้นเดียว ที่เรารักมันและใส่จินตนาการ อารมณ์ความรู้สึก จนทำให้เรามีความแตกต่าง” งานทดลองออกแบบเครื่องปั้นระดับพรีเมี่ยมก็ขายออกตั้งแต่วันแรก จุดประกายให้มีชิ้นหลัก 2-3 พันจนถึงหลักแสนบาท ตามมา

หลังจากมั่นใจในสินค้าและผลงานชิ้นเอก จึงพาตัวเอง พร้อมกับผลงานศิลปะดินมอญ ที่พัฒนาแบบร่วมสมัย ไปออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และพาตัวเองออกไปเจอโลกกว้างเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แสวงหาแรงบันดาลใจ และไอเดียแปลกใหม่ในงานศิลป์อยู่เสมอ

“หมั่นพาตัวเองออกไปข้างนอก วิ่งหาโอกาส อย่ารอโอกาส ทั้งไปอบรม และออกงานแฟร์ เพราะสิ่งเรานี้จะเป็นประตูทำให้เราพบเจอแนวคิดใหม่ๆ จากการคุยกับลูกค้า”

การออกงานแสดงสินค้า “บ้านดินมอญ” จึงไม่สูญเปล่า แม้จะขาดทุนบ้าง หรือขายได้น้อยชิ้นในบางงาน แต่นั่นจะเป็นประตูไปสู่โอกาสใหม่ๆ เช่น การไปออกงานแสดงสินค้าในเซ็นทรัลชิดลม ค่าบูท 5,000 บาทภายใน 4 ชั่วโมง ขายได้ 3,000 บาท ขาดทุน แต่ก็มาพร้อมดีลพิเศษชักชวนเข้าไปขายในโอเรียนเต็ล และเซ็นทรัล เอ็มบาสซีตามมา ด้วยราคาหลักพันถึงแสนบาท

ไม่รู้ว่าคนมาเดินซื้อในงานแฟร์เป็นใครอาจจะเป็นลูกค้าออเดอร์ชิ้นใหญ่ ดังนั้นต้องวิ่งหาโอกาสไปเปิดตัว เราเป็นเสือต้องออกจากถ้ำไปคำราม ให้คนได้รับรู้ไม่ใช่เป็นแมวในบ้าน

การส่งออเดอร์ไปให้กับโรงแรมโอเรียนเต็ล ได้รับบทเรียนการโค้ดราคา จนต้องทบทวนจุดยืนใหม่ ในการประเมินมูลค่างานศิลป์ของตัวเองใหม่ เพราะการยอมลดราคาขายส่งให้กับโรงแรมโอเรียนเต็ล 40%จากชิ้นละ 1,000 เหลือ600 บาท นั่นคือการลดเกรดตัวเอง

“ทางโอเรียนเต็ลถามกลับว่าทำไมต้องดูถูกตัวเองลด ราคาคุณค่าตัวเอง เราเป็นศิลปิน ผลิตงาน ต้องคิดว่าเสียเวลา และค่าแนวคิด” จุดประกายให้เขาเคารพรักในสิ่งที่ตัวเองทำ ในราคาที่คนซื้อพอใจ คนขายก็มีความสุข

วันนี้เขาจึงได้พิสูจน์กับครอบครัวได้เห็นว่า งานศิลปะเครื่องปั้นดิน มรดกของตระกูล ยังไปต่อได้ และสร้างฐานะให้กับเขาได้อย่างมั่นคง สามารถบอกคนในตระกูล และคนชมงานศิลป์ได้รับรู้ว่า คำว่า”ศิลปินไส้แห้ง” ไม่ใช่วิถีของศิลปินคนนี้

ด้าน บิ๊ก ผุยมาตย์ เจ้าของบริษัท ข้าวกรอบสยาม จำกัด ผู้ผลิตขนมอบกรอบ “ข้าวกรอบสยาม” เป็นธุรกิจที่อายุน้อยที่สุด เริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เพราะอยากแบ่งเบาภาระของครอบครัว ในวันที่ธุรกิจของที่บ้านเกิดวิกฤติ และตัวเขาถูกส่งให้ไปเรียนเมืองจีน แม้เริ่มต้นครอบครัวอาจจะไม่เชื่อนัก แต่เขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเอาจริง

“เริ่มจากการตั้งคำถามกระยาสารทที่แม่ส่งไปให้กินในเมืองจีน ทำไมถึงต้องเหนียว ไม่เหมาะกับคนจัดฟันอย่างเขา จึงหาวิธีทดลองทำให้กระยาสารทกินง่าย ไม่เหนียว โดยการอบกรอบ”

พออายุ 11-12 ปี ระดับประถมศึกษาก็เริ่มไม่อยากเรียนหนังสือ อยากโฟกัสธุรกิจเป็นหลัก หลังจากทดลองพัฒนากว่า 1ปี จนได้เป็นผลิตภัณฑ์โดยใช้ชื่อว่า “ข้าวกรอบสยาม” เพราะต้องการชูเรื่องข้าวเป็นของเด่นประจำประเทศไทย และกระยาสารทกรอบก็เป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียว วางขายที่มาเลเซียเป็นประเทศแรก โดยเขาเป็นเจ้าของกิจการและคนขายในวัย 15 ปี

ปัจจุบันน้องบิ๊กอายุ 19 ปี ไม่หยุดพัฒนาข้าวกรอบอบสยาม ให้มี หลากหลายรส เช่น มะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง งาขาว บิ๊กเติบโตและศึกษาการตลาดจากประสบการณ์ตรง ตั้งบูทขายของและคุยกับลูกค้าด้วยตัวเอง จนปัจจุบันสินค้าวางจำหน่ายในบิ๊กซี และเลม่อนฟาร์ม เจาะกลุ่มคนรักษ์สุขภาพ และลูกค้าต่างประเทศที่มาเที่ยวเมืองไทย

แม้ทั้ง 3 ธุรกิจจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ การ”กล้าคิดนอกกรอบ” ออกจากความวังวนเดิมๆ ในตลาด จึงค้นพบเส้นทางความสำเร็จในแบบฉบับของแต่ละแบรนด์

-------------------------

สูตรคนกล้า SMEs

1.เดินธุรกิจจากความรัก

2.คิดบวก หาทางไปต่อ

3.กล้าฉีกกรอบตลาดเดิม

4.สำรวจตลาดด้วยตัวเอง