ซูเปอร์โพล ระบุคนส่วนใหญ่ 'พลังเงียบ' ยังไม่ฟันธงเลือกพรรคไหน

ซูเปอร์โพล ระบุคนส่วนใหญ่ 'พลังเงียบ' ยังไม่ฟันธงเลือกพรรคไหน

ซูเปอร์โพล ชี้คนส่วนใหญ่ ยังไม่มีพรรคการเมืองในใจ เปิดทางแข่งหาเสียงถึงโค้งสุดท้าย

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.62 นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง พรรคการเมืองในใจคนไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,097 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 26 ม.ค. – 2 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนจำนวนมากเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 38.7 ยังไม่ทราบวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มีนาคม อย่างไรก็ตามร้อยละ 61.3 ทราบแล้วว่าเป็นวันที่ 24 มีนาคม และเมื่อสอบถามถึงความตั้งใจจะไปเลือกตั้ง พบว่าร้อยละ 44.8 จะไป ร้อยละ 44.0 ยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 11.2 ไม่ไป

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.0 ยังไม่มีพรรคการเมืองในใจที่จะเลือก ในขณะที่ร้อยละ 24.0 ระบุมีพรรคการเมืองในใจแล้ว และเมื่อจำแนกตามจุดยืนการเมืองพบว่า ทุกกลุ่มจุดยืนการเมืองส่วนใหญ่ยังไม่มีพรรคการเมืองในใจที่จะเลือก โดยกลุ่มพลังเงียบยังไม่มีพรรคการเมืองในใจที่จะเลือกมากที่สุด คือร้อยละ 82.9 รองลงมาคือ กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลและ คสช. ร้อยละ 76.9 และกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลและ คสช. ร้อยละ 63.2 ยังไม่มีพรรคการเมืองในใจที่จะเลือก

ที่น่าสนใจคือ การตัดสินใจของ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ควรรับเทียบเชิญของนักการเมือง หรือ วางตัวเป็นกลาง ทำงานต่อ รอผลหลังเลือกตั้ง จำแนกตามจุดยืนการเมืองของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มจุดยืนการเมือง ได้แก่ กลุ่มพลังเงียบร้อยละ 86.3 กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลและ คสช. ร้อยละ 81.8 และกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล และ คสช. ร้อยละ 74.9 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรวางตัวเป็นกลาง ทำงานต่อ รอผลหลังเลือกตั้ง ในขณะที่ กลุ่มสนับสนุนรัฐบาล และ คสช. ร้อยละ 25.1 กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล และ คสช. ร้อยละ 18.2 และกลุ่มพลังเงียบร้อยละ 13.7 เท่านั้นที่ระบุ นายกรัฐมนตรีควรรับเทียบเชิญนักการเมือง

ผอ. ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ชัดว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ฟันธงจะเลือกพรรคไหน ทุกพรรคการเมืองจึงมีโอกาสสูงได้ใจประชาชนแต่ช่วงโค้งสุดท้ายจะชัดเจนขึ้นว่าคนไทยจะเลือกพรรคใด อย่างไรก็ตาม วันนี้ คนไทยในทุกกลุ่มเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีวางตัวเป็นกลาง ทำงานต่อ รอผลหลังเลือกตั้งจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่าโดยช่วงเวลาที่เหลือโชว์ผลงานต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์เสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่นและการสนับสนุนจากสาธารณชนต่อภารกิจของรัฐบาลและ คสช. ที่จะเป็นตัวช่วยบริหารจัดการอารมณ์ของสาธารณชนได้ดีมีประสิทธิภาพหลังเลือกตั้งอีกด้วย