อธิบดีดีเอสไอ ชี้หนุนวิจัยใช้เทคโนโลยี แก้ปัญหาอาชญากรรม

อธิบดีดีเอสไอ ชี้หนุนวิจัยใช้เทคโนโลยี แก้ปัญหาอาชญากรรม

ดีเอสไอคว้า 2 รางวัล "วันนักประดิษฐ์" จากวช. เกมทางเลือก ทางรอด. แก้หนี้นอกระบบ.- แนวทางคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย เหยื่ออาชญากรรมจากคำสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการ ลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม

ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค- 2 ก.พ.62. พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าร่วมพิธีเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2562 (Thailand Inventors' Day 2019) พิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ และรางวัล 2018 TWAS Prize for Young Scientists in Thailand จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งในปีนี้ดีเอสไอได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี เรื่อง ”ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย หรือเหยื่ออาชญากรรมเนื่องจากคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ” ซึ่งเป็นผลงานของ ร.ต.อ. ดร.สุรวุฒิ รังไสย์ รองผอ.กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี เรื่อง “The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด” ผลงานของ พ.ต.ทง วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผอ.กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศกรมสอบสวนคดีพิเศษ

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า ดีเอสไอให้ความสำคัญและสนับสนุนให้ข้าราชการทำงานวิจัยและนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และใช้เป็นกรอบแนวทางของการบริหารหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ สำหรับ The Choice เกมทางเลือก - ทางรอด ได้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับให้ความรู้ด้านกฎหมาย การเข้าถึงความยุติธรรม การดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นผลงานสำคัญของกระทรวงยุติธรรม เพื่อสร้างการรับรู้ในการป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ผ่านมา ได้เผยแพร่ไปทั่วประเทศ โดยสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สำนักงานกิจการยุติธรรม และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

ขณะที่ผลงานวิจัยถึงปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย หรือเหยื่ออาชญากรรม เนื่องจากคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ. มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรม

โดยพบว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมได้อย่างเหมาะสมเพราะมีความล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากกฎหมายไม่บัญญัติไว้ชัดเจนที่จะให้ผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมขอให้องค์กรอัยการทบทวนคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องได้อย่างเหมาะสม การหาพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ

โดยงานวิจัยเสนอว่า จำเป็นต้องมีแนวทางในการยกร่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีรายละเอียดในการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรม เนื่องจากคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ มีปัญหาต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ. ทั้งนี้เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล. และสอดคล้องกับปฏิญญาว่าด้วยหลักความยุติธรรมขั้นพื้นฐานสำหรับผู้เสียหายจากอาชญากรรมและการใช้อำนาจโดยมิชอบ ค.ศ.1985 อย่างเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมของรัฐบาล