ฝนหลวงปรับแผนทำวิจัยชนิดใหม่ หลังสภาพอากาศไม่อำนวย

ฝนหลวงปรับแผนทำวิจัยชนิดใหม่ หลังสภาพอากาศไม่อำนวย

อธิบดีกรมฝนหลวงฯ เร่งทำวิจัยสารฝนหลวงชนิดใหม่ ดูดความชื้นเพิ่ม หลังสภาพอากาศไม่อำนวย

ผลการตรวจสภาพอากาศ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.62 ที่สถานีตรวจอากาศสัตหีบ จังหวัดชลบุรี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า สภาพอากาศในฤดูหนาวมีความชื้นสัมพัทธ์อากาศต่ำ ประกอบกับมีบริเวณความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ลงมาปกคลุม ทำให้อากาศอุ่นซึ่งอยู่ด้านล่าง ไม่สามารถพัดขึ้นไปได้ ทำให้ ฝุ่นละอองขนาดเล็กจึงฟุ้งกระจายไม่ลอยสู่บรรยากาศชั้นบน แต่กรมฝนหลวงคาดหวังว่าแม้สภาพอากาศจะไม่เอื้ออำนวยถึงขั้นทำให้เมฆกลั่นตัวตกลงมาเป็นฝน แต่ปฏิบัติการสร้างเมฆให้มีกลุ่มเมฆมากที่สุดเท่าที่จะทำได้จะช่วยให้เม็ดน้ำในอากาศมาจับตัวกับฝุ่นที่แขวนลอยอยู่ ทำให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพน้อยลง โดยขณะนี้กรมฝนหลวงกำลังทำวิจัยผลิตสารฝนหลวงชนิดใหม่ เพื่อให้สามารถใช้ปฏิบัติการได้ แม้ในสภาพที่มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำ สารฝนหลวงที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้มีศักยภาพดูดความชื้นได้เป็นอย่างดี โอกาสที่จะทำฝนหลวงในสภาพอากาศที่ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำจะเป็นไปได้มากขึ้น

ก่อนหน้านี้ กรมฝนหลวง ได้ตรวจสภาพอากาศวันนี้ที่สถานีตรวจอากาศสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ความชื้นสัมพัทธ์ในระดับการก่อเมฆอยู่ที่ร้อยละ 60 อยู่ในเกณฑ์ที่จะปฏิบัติการขั้นก่อกวนหรือทำให้เมฆก่อตัว หน่วยฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดระยอง จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการโปรยสารฝนหลวงจากทิศเหนือของอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นแนวเส้นตรงไปถึงอำเภอองค์รักษ์ จังหวัดนครนายก หากเมฆพัฒนาตัวดีตกเป็นฝนสู่พื้นที่เป้าหมาย คือ กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและสมุทรปราการจะช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็กได้มาก แต่เนื่องจากความชื้นสัมพันธ์ในอากาศระดับการพัฒนาตัวของเมฆลดลงเหลือร้อยละ 38 จึงตั้งเป้าหมายว่าให้ก่อเมฆได้มากที่สุด เพื่อให้เม็ดน้ำในก้อนเมฆมาเกาะฝุ่นละอองที่ฟุ้งอยู่ในบรรยากาศ โดยผลจากเรดาร์ตรวจอากาศเย็นวานนี้พบว่า หลังจากปฏิบัติการก่อเมฆ แล้วกระแสลมพัดพาเข้าสู่กรุงเทพมหานครแล้ว ปริมาณฝุ่นละอองที่ตรวจวัดได้ในพื้นที่ที่มีเมฆมากนั้นลดลงจากในช่วงเช้า

สำหรับที่สถานีเรดาร์อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ตรวจวัดความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศอยู่ที่ร้อยละ 56 ค่าดัชนีการยกตัวของมวลอากาศอยู่ที่ 5.4 ซึ่งไม่เอื้อต่อการก่อเมฆ โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงนครสวรรค์รับผิดชอบลดฝุ่นละอองในจังหวัดนครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี ซึ่งช่วงเช้ายังไม่ขึ้นปฏิบัติการ แต่จะติดตามตรวจสอบสภาพอากาศตลอดทั้งวัน

ส่วนที่สถานีเรดาร์เคลื่อนที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ตรวจวัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศอยู่ที่ร้อยละ 58 ซึ่งใกล้เคียงเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ ร้อยละ 60 ค่าดัชนีการยกตัวของมวลอากาศอยู่ที่ -3 อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงนครสวรรค์จึงตัดสินใจบินปฏิบัติการสร้างแกนเมฆบริเวณทางทิศเหนืออำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมไปยังอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี โดยหวังผลให้เกิดเมฆฝนในจังหวัดราชบุรี นครปฐม แล้วให้กระแสลมพัดพาเข้าสู่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกหรือฝั่งธนบุรี