เศรษฐกิจธันวาคมโตต่อเนื่อง

เศรษฐกิจธันวาคมโตต่อเนื่อง

"แบงก์ชาติ" เผยเศรษฐกิจไทยเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่อง เติบโตในทุกหมวดการใช้จ่าย ขณะที่การส่งออกหดตัวเล็กน้อย

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.62 นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า ในเดือนธ.ค.2561 ในส่วนของเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย แม้ชะลอลงบ้างเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่สูงในปีก่อนในหมวดบริการและหมวดสินค้าคงทนเป็นสำคัญ

สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมปรับดีขึ้นตามรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่กลับมาขยายตัวจากด้านผลผลิตโดยเฉพาะข้าวขาว ขณะที่รายได้รวมลูกจ้างนอกภาคเกษตรกรรมทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน โดยเฉพาะการผลิตในหมวดยานยนต์ และหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สอดคล้องกับยอดจำหน่ายยานยนต์ในประเทศที่ขยายตัวดี

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องในหลายหมวด และยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการลงทุน ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างหดตัวตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง แต่ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างยังขยายตัวได้

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ขยายตัวที่ 7.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในตลาดสำคัญ อาทิ มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และรัสเซีย ประกอบกับในเดือนนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน หลังจากเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต สะท้อนสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้น

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดเส้นทางบินตรงใหม่มายังไทยเพิ่มเติม ประกอบกับได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม visa on arrival ที่เริ่มมีผลเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ทั้งนี้ เมื่อขจัดผลของฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียเป็นสำคัญ

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 1.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำหดตัว 2.0% โดยเป็นการหดตัวในหลายหมวดสินค้าจาก 1) ผลของฐานสูงจากระยะเดียวกันปีก่อนในหลายหมวดสินค้า อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ โทรศัพท์มือถือ สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปโดยเฉพาะข้าวและน้ำมันปาล์ม และเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะแผงโซล่าเซลล์และเครื่องซักผ้า และ 2) ผลของอุปสงค์ในตลาดโลก ที่ชะลอลงจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศชะลอตัวและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยางหดตัว

อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ขยายตัวจากด้านปริมาณเป็นสำคัญ และการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ขยายตัวตามการส่งออกยางล้อรถยนต์ไปสหรัฐฯ ที่ได้รับผลดีจากการทดแทนสินค้าจีนเป็นสำคัญ

ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้า หดตัวที่ 6.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการนำเข้าทองคำที่หดตัวสูง และหากหักทองคำขยายตัว 2.5% โดยเป็นการขยายตัวใน 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามการนำเข้าน้ำมันดิบที่ขยายตัวจากทั้งด้านราคาและปริมาณ 2) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าสินค้ากึ่งคงทน สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว และ 3) หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน ตามการนำเข้ารถยนต์นั่งและชิ้นส่วนยานยนต์ สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน หดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายลงทุนที่หดตัวจากการชะลอการเบิกจ่าย เพื่อทบทวนแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่รายจ่ายประจำขยายตัวจากรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.36% ชะลอจาก 0.94% ในเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับราคาอาหารสดปรับลดลงเล็กน้อย ตามราคาผักและผลไม้เป็นสำคัญ

นายดอน ยังกล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2561 ว่า ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 โดยอุปสงค์ในประเทศขยายตัวตามเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวในทุกหมวดการใช้จ่าย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตาม ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวตามรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ ด้านอุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวชะลอลงตามการส่งออกสินค้า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวสูงขึ้นแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากไตรมาสก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับลดลง อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากไตรมาสก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ