จำคุก 10 กระทง 60 ปี 'ดร.สวัสดิ์' ฟอกเงินสหกรณ์จุฬาฯ

จำคุก 10 กระทง 60 ปี 'ดร.สวัสดิ์' ฟอกเงินสหกรณ์จุฬาฯ

จำคุก 10 กระทง 60 ปี "ดร.สวัสดิ์" ฟอกเงินสหกรณ์จุฬาฯ ศาล ชี้ เป็นเจ้าพนักงานทำผิดต้องโทษ 2 เท่าจำคุกกระทงละ 8 ปี คำรับสารภาพชั้นสอบสวนมีประโยชน์บ้างลดเหลือกระทง 6 ปี สุดท้ายรวมโทษสูงสุด 20 ปี ขณะที่สาวรับโอนเงิน เจอคุก 3 ปี

ที่ห้องพิจารณา 903 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีฟอกเงินฉ้อโกงสหกรณ์จุฬาฯ สำวนที่ 2  หมายเลขดำ ฟย.20/2560 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายสวัสดิ์ แสงบางปลา อายุ 80 ปีเศษ ตำแหน่งวิชาการด็อกเตอร์ อดีตประธานกรรมการบริหารสหกรณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  , น.ส.จิรัชญา หรือไข่เจียว คุณยศยิ่ง อายุ 25 ปีเศษ ถิ่นฐานชลบุรี และ น.ส.ภวิษย์พร ใบเกตุ อายุ 30 ปีเศษ ถิ่นฐานกทม.ซึ่งเป็นคนรักกับ น.ส.จิรัชญา เป็นจำเลยที่ 1 -3 ในความผิดสมคบและร่วมกันฟอกเงินสหกรณ์จุฬาฯ จำนวน 42 ล้านบาท ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

ตามฟ้องอัยการโจทก์ ระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.58 13 มี.ค.60 นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันหลอกลวงข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญ สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงทุนโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล (ลอตเตอรี่) ซึ่งอ้างว่าจะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 10-12 ต่อปี โดยอัตราผลตอบแทนที่จะจ่ายให้นั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายพึงจะจ่ายให้ได้ แล้วเมื่อเดือน มี.ค.60 กลุ่มผู้เสียหายไม่สามารถเบิกเงินจากสหกรณ์ที่จำเลยอ้างได้ โดยจำเลยที่ 2-3 ร่วมกันฟอกเงินจากการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 

ขณะที่คดีเริ่มสืบพยาน เมื่อเดือน พ.ค.61 โดยจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ซึ่งชั้นพิจารณา น.ส.จิรัชญา จำเลยที่ 2 และ น.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 นำสืบว่าจำเลยที่ 3 คบหากับจำเลยที่ 2 ในฐานะคนรักและอยู่ด้วยกัน ระหว่างนั้นเคยขอยืมเงินจากจำเลยที่ 1 มาใช้ในครอบครัวและลงทุนค้าขาย แต่ไม่ทราบว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 โอนมาให้จะมีจำนวนหลายล้านบาท ขณะที่จำเลยที่ 3 อ้างติดพนันสล็อตออนไลน์ โดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ทำงานที่ไหน ทำงานอะไร และไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล

ส่วน นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างว่า การโอนเงินผ่านบัญชีของจำเลยที่ 2 เป็นการให้จำเลยที่ 3 ยืมเงิน แต่จำไม่ได้ว่าโอนให้กี่ครั้ง และไม่น่าจะโอนถึง 829 ครั้ง

ซึ่งระหว่างการพิจารณาคดี นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาตลอด นับตั้งแต่ถูกจับกุมเมื่อเดือน พ.ค.60 ที่ผ่านมา

โดยวันนี้ ศาล เบิกตัว นายสวัสดิ์ จากเรือนจำ มาฟังคำพิพากษา ส่วน น.ส.จิรัชญาหรือไข่เจียว และ น.ส.ภวิษย์พรหรือชมพู่ ซึ่งได้รับการประกันตัว ก็เดินทางมาศาลพร้อมครอบครัว

ทั้งนี้ ศาล พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบหักล้างกันแล้ว รบฟังได้ว่า นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 และ น.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 คบหากันฉันท์ชู้สาวมาเป็นเวลานานหลายปีย่อมมีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง จนมีความสนิทสนมและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่างเกิดเหตุมีการโอนเงินจำนวนมากผิดปกติวิสัยซึ่งมีลักษณะการโอนเงินเช่นเดียวกับการที่ นายสวัสด์ จำเลยที่ 1 โอนเงินให้แก่ น.ส.เมธวัชร์หรือพชกร คนมั่น (อายุ 33 ปีเศษ บุคลิกเป็นทอม จำเลยคดีฟอกเงินอีกสำนวน ซึ่งศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 21 พ.ย.60 จำคุก 8 ปี 6 เดือน หลังจากให้การรับสารภาพ) และเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน โดย น.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 อ้างว่านำเงินที่ได้จากจำเลยที่ 1 ไปเล่นการพนันและใช้จ่ายในครอบครัวข้ออ้างของจำเลยที่ 3 เชื่อถือไม่ได้

พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงให้รับฟังได้ว่า นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 โอนเงินที่ได้จากการฉ้อโกงประชาชนและการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ โดยร่วมกระทำผิดและแบ่งหน้าที่กันทำ โดย นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 โอนส่งต่อเงินดังกล่าวให้แก่ ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 โดยผ่านบัญชีเงินฝากของ น.ส.จิรัชญา จำเลยที่ 2 ซึ่งตกลงยินยอมให้ใช้บัญชีเงินฝากรับโอนเงินดังกล่าว จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการร่วมกันซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงินหรือทรัพย์สินนั้น โดยจำเลยที่ 3 รู้ในขณะรับโอนทรัพย์สินนั้นว่าได้จากการกระทำผิดมูลฐาน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง

ส่วน น.ส.จิรัชญา จำเลยที่ 2 นั้นเป็นเจ้าของบัญชี ไม่ได้รู้จักกับ นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 โดยตรง และเพิ่งรู้จักกับ น.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความสัมพันธ์ชู้สาวกัน การที่จำเลยที่ 3 ขอใช้บัญชีของจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าบัญชีเงินฝากของตนนั้นขัดข้อง ก็น่าเชื่อว่าเป็นอุบายของจำเลยที่ 3 หลอกลวงใช้บัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 เพื่อรับโอนจากจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 นำเงินจากบัญชีที่ได้รับจากการโอนจากจำเลยที่ 1 ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์ ที่นำสืบมาไม่อ่านรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้

จึงพิพากษาว่า นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 และ น.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 3(3)(18) , มาตรา 5 (1)(2)(3) , มาตรา 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง , มาตรา 60 ฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำผิดฐานฟอกเงินแล้ว ซึ่งเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันฟอกเงินซึ่งเป็นบทหนักที่สุด โดยให้จำคุก น.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 มีกำหนด 4 ปี

ส่วน นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 มีความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม โดยจำคุก 10 กระทงๆ ละ 4 ปี ซึ่งขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจจัดการของสถาบันการเงินตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ มาตรา 10 วรรคแรก ซึ่งจะต้องระวางโทษเป็นสองเท่า ดังนั้นจึงให้จำคุกกระทงละ 8 ปี รวมจำคุก 80 ปี

โดยคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวน และทางนำสืบของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงให้ลดโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1 ใน 4 โดยให้จำคุก นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 กระทงละ 6 ปีเป็นจำคุกทั้งสิ้น 60 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกสูงสุดไว้ 20 ปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น การกระทำผิดคดีนี้ เป็นความผิดต่อเนื่องกับความผิดอาญาซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมโดยศาลพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 200 ปี 600 เดือน (คดีฉ้อโกงประชาชนหมายเลขแดง อ.3256,2357/2561) ต้องรวมโทษทุกกระทงในคดีนี้เข้ากับคดีดังกล่าวไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) แต่เมื่อคดีดังกล่าว (ฉ้อโกงประชาชน) ศาลก็ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1ทุกกระทงไว้มีกำหนด 20 ปีแล้วดังนั้นในคดีนี้จึงไม่อาจเพิ่มโทษให้จำเลยได้อีก และที่อัยการโจทก์ ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีก่อนหน้านี้ (ฉ้อโกงประชาชน) ก็ไม่อาจนับโทษต่อได้เช่นกัน จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้

ส่วน น.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 ให้จำคุก มีกำหนด 3 ปี และพิพากษายาฟ้องในส่วนของ น.ส.จิรัชญาจำเลยที่ 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว น.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 ถึงกับร่ำไห้โผเข้ากอดกับญาติที่เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษา ก่อนที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัว อย่างไรก็ตามคดีนี้คู่ความยังสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษา ขณะที่จำเลย ก็สามารถยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดีได้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับคดีฉ้อโกงข้าราชการบำนาญจุฬาฯ และสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ จนมีผู้หลงเชื่อจำนวนมาก นำเงินมาลงทุนทั้งสิ้น 183,730,000 บาท ที่อัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 ได้ยื่นฟ้อง นายสวัสดิ์ ในคดีหมายเลขดำ อ.2438/2560 นั้น ศาลอาญามีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 7 พ.ย.61 ที่ผ่านมาพร้อมกับหมายเลขดำ อ.3080/2560 รวมมูลค่าความเสียหาย 183.73 ล้านบาท ให้จำคุก นายสวัสดิ์ ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทหนักสุด รวม 100 กระทงๆ ละ 5 ปี จำเลยรับสารภาพ ลงโทษกึ่งหนึ่งให้จำคุก 200 ปี 600 เดือน แต่เมื่อรวมการลงโทษแล้วจำคุกไว้ทั้งสิ้น 20 ปีพร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย 100 ราย ตั้งแต่ 3 ล้านบาทเศษ 39 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีด้วย

ขณะที่คดีฟอกเงินสำนวนแรกนั้น คือ คดีหมายเลขดำ ฟย.21/2560 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.เมธวัชร์ หรือพชกร คนมั่น สาวทอมชาว จ.สระแก้ว รับโอนเงินมา 62 ล้านบาทจากนายสวัสดิ์ ซึ่งให้การรับสารภาพ ศาลอาญาจึงมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 21 พ.ย.60 ให้จำคุกทั้งสิ้น 8 ปี 6 เดือน โดยคดีนี้ นายสวัสดิ์ ก็ถูกฟ้องด้วยแต่ให้การปฏิเสธจึงถูกแยกสำนวนฟ้องฟอกเงินเป็นคดีหมายเลขดำ ฟย.34/2560 ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา