'ดับบลิวเอชเอ' ทุ่ม4.5หมื่นล้านชิงโอกาสอีอีซี

'ดับบลิวเอชเอ' ทุ่ม4.5หมื่นล้านชิงโอกาสอีอีซี

วางแผนธุรกิจ 5 ปี 4.5 หมื่นล้านบาท ชูอีอีซีหนุนธุรกิจทุกกลุ่ม คาดปีนี้รายได้โต 70% เดินหน้าตั้งอีคอมเมิร์ซพาร์ค 3 แห่ง รับยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีนลงทุน เล็งบุกธุรกิจสมาร์ทซิตี้ พร้อมตั้งนิคมฯใหม่ในอีอีซี 3 แห่ง

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2562 ดับบลิวเอชเอ ได้ตั้งเป้าหมายจะมีรายได้และส่วนแบ่งกำไรจะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 70% จากปี 2561 ที่มีส่วนแบ่งกำไรรวมมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตแบบก้างกระโดด เนื่องจากมีการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่จะส่งสอบในต้นปีนี้ 285 ไร่ และมีรายได้เพิ่มจากธุรกิจโรงไฟฟ้าที่จะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อีก 2 แห่งในปีนี้

ส่วนปี 2562 ตั้งงบลงทุนไว้ 9,000-10,000 ล้านบาท โดยลงทุนใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ 4,000 ล้านบาท ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม 3,000 ล้านบาท ธุรกิจบริการสาธารณูปโภคและพลังงาน 3,000 ล้านบาท และการดำเนินการระยะยาวได้วางแผนการลงทุน 5 ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 4.5 หมื่นล้านบาท และมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจ 15% ต่อปี

'ดับบลิวเอชเอ' ทุ่ม4.5หมื่นล้านชิงโอกาสอีอีซี

ยื่นขอตั้งเขตส่งเสริมดิจิทัล

สำหรับการดำเนินงานในปี 2562 ในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ จะเน้นการตั้งอีคอมเมิร์ซ 3 แห่ง พื้นที่รวม 3.2 แสนตารางเมตร ได้แก่ โครงการดับบลิวเอชเอ อี-คอมเมิร์ชพาร์ค จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งยื่นคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อเป็นเขตส่งเสริมพิเศษด้านดิจิทัล มีพื้นที่รวม 2 แสนตารางเมตร ในจำนวนนี้จะเป็นเขตฟรีโซน 40,000 ตารางเมตร เพื่อเป็นฐานส่งออก โดยเฟส 1 พื้นที่ 1.3 แสนตารางเมตร ทำข้อตกลงเช่าพื้นที่กับบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนแล้ว จะส่งมอบพื้นที่เดือน ก.ย.นี้ ส่วนเฟส 2 อีก 70,000 ตารางเมตร ผู้เช่ารายเดิมเสนอเช่าเพิ่มในเฟส 2 ทั้งหมด

2.โครงการดับบลิวเอชเอ-เจดี อี-คอมเมิร์ช เซ็นเตอร์ พื้นที่ 60,000 ตารางเมตร ขณะนี้บริษัทเจดีดอทคอม ผู้ดำเนินธุรกิจด้านค้าปลีกออนไลน์และออฟไลน์รายใหญ่ของจีน มาเช่าพื้นที่เฟส 1 มีพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร 3.โครงการอีคอมเมิร์ซพาร์ค จ.สมุทรปราการ พื้นที่ 60,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 2 เฟส รวม 60,000 ตารางเมตร กำลังจะเซ็นสัญญา

“ดับบลิวเอชเอ มีพื้นที่รอบอีคอมเมิร์ซพาร์คทั้ง 2 แห่งในฉะเชิงเทรา จึงมีแผนที่ตั้งอีคอมเมิร์ซพาร์คเพิ่ม เพราะการค้าออนไลน์เติบมาก ทำให้ผู้ประกอบการจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยอีกมาก”

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมขยายธุรกิจโลจิสติกส์อีก 2 แสนตารางเมตร โดยเฉพาะโครงการดับบลิวเอชเอ เมกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ แหลมฉบัง 2 ทำให้พื้นที่คลังสินค้ารวมเพิ่มจากในปัจจุบัน 2.3 ล้านตารางเมตร เป็น 2.5 ล้านตารางเมตร รวมทั้งยังได้ขยายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV โดยเน้นไปที่ประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามเป็นหลัก

เตรียมแผนตั้ง4นิคมฯใหม่

กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม บริษัทฯ มีเป้าหมายจะสร้างนิคมฯใหม่ 4 แห่ง เป็นนิคมฯในพื้นที่ จ.ระยอง 3 แห่ง และจ.สระบุรีอีก 1 แห่ง โดยในปี 2562 จะเพิ่มนิคมฯใหม่ 1 แห่ง โครงการดับบลิวเอสเอ อิสเทิร์นซีบอร์ด 3 จ.ระยอง มีพื้นที่ 1 พันไร่ รวมแล้วจะทำให้ ดับบลิวเอชเอ มีนิคมฯในไทย 10 แห่ง และในเวียดนาม 1 แห่ง มีพื้นที่รวม 68,500 ไร่ ในจำนวนนี้รวมถึงพื้นที่ที่เปิดให้บริการและอยู่ระหว่างพัฒนา 43,150 ไร่ ตั้งเป้าปีนี้จะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 1.6 พันไร่ นอกจากนี้ ยังศึกษาที่จะสร้างนิคมฯในประเทศเวียดนามเพิ่มอีก 1 แห่ง

“สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ส่งผลบวกกับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ทำให้นักลงทุนจีนเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น โดยปีที่ผ่านมานักลงทุนที่ในนิคมฯ มาจากจีนสูงถึง 41% ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้นตลอด รวมทั้งมีนิคมฯในเวียดนามมีพื้นที่ 20,000 ไร่ พัฒนาพื้นที่แล้ว 1,000 ไร่ รองรับการลงทุนจากจีน และคาดว่าปีนี้นิคมฯเวียดนามจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 200 ไร่”

สนลงทุนธุรกิจสมาร์ทซิตี้

ทั้งนี้ ดับบลิวเอชเอ สนใจธุรกิจสมาร์ทซิตี้ เพราะมีสต็อกที่ดินกว่า 10,000 ไร่ และมีพื้นที่บางส่วนไม่เหมาะทำนิคมฯ เพราะอยู่ใกล้เขตเมือง ติดถนนใหญ่ ที่ดินมีราคาแพง โดยเฉพาะที่ดินที่ติดถนนสาย 331 จึงควรนำมาพัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้ โดยได้หารือกับบริษัทพันธมิตรด้านอสังหาริมทรัพย์แล้ว

กลุ่มธุรกิจบริการสาธารณูปโภคและพลังงาน ธุรกิจสาธารณูปโภคด้านน้ำ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) จะขยายการผลิตน้ำไปนิคมฯอื่น รวมถึงมีบริการเสริม เช่น การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ การผลิตน้ำด้วยระบบรีเวอร์สออสโมสิส และน้ำอุตสาหกรรมปราศจากแร่ธาตุ รวมทั้งได้คิดค้นนวัตกรรมและการนำเทคโนโลยีใหม่ เช่น ไอโอที มาใช้สำหรับสมาร์ทวอเตอร์โซลูชั่น เฟสแรก ที่นิคมฯดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด)

ส่วนธุรกิจพลังงาน จะเน้นที่พลังงานทางเลือกเป็นหลัก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยและเวียดนาม ในด้านโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง จะยังคงเดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือกับพันธมิตรในระยะยาว ได้แก่ กัลฟ์ โกลว์ และบี กริม รวมทั้งร่วมมือกับมิตซุยและโตเกียวแก๊สในธุรกิจจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นบริการใหม่ให้ลูกค้าของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป

ทั้งนี้ เทคโนโลยีและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นใหม่ยังอยู่ในการศึกษา เช่น สมาร์ทกริด ระบบการจัดเก็บพลังงาน โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซและโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ โดยตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 570 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำลังการผลิต 521 เมกะวัตต์

เพิ่มรายได้ธุรกิจโลจิสติกส์

กลุ่มธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม เร่งปรับโฉมทุกนิคมอุตสาหกรรมในเครือให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบในปี 2562 ปัจจุบัน บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท จำกัด มีดาต้าเซ็นเตอร์ 4 แห่ง ซึ่งรวมถึงการร่วมทุนกับซุปเปอร์แนป ที่เป็นดาต้าเซนเตอร์ระดับเทียร์ 4 แห่งเดียวในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมออสเตรเลีย)

นอกจากนี้ ยังให้บริการเทคโนโลยีไฟเบอร์ออฟติกใน 5 นิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มดับบลิวเอชเอ มีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าและการบริการให้ครอบคลุมทุกนิคมอุตสาหกรรมภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงการเพิ่มการใช้งานเทคโนโลยีอัจฉริยะในศูนย์กระจายสินค้า นิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจในเครืออีกด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันดับบลิวเอชเอ มีรายได้จากธุรกิจโลจิสติกส์ 40% ธุรกิจนิคมฯ 28% ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน 31% และธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม 0.4% ส่วนปี 2562 สัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ 50% ธุรกิจนิคมฯ 29% ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน 19% และธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม 1%