'นูทานิคซ์' จับเทรนด์ เปลี่ยนเกมธุรกิจอาเซียน

'นูทานิคซ์' จับเทรนด์  เปลี่ยนเกมธุรกิจอาเซียน

จำเป็นต้องมีการใช้โครงสร้างพื้นฐานไอทีรุ่นใหม่

“เมื่อความคาดหวัง มาตรฐานของผู้บริโภค โครงสร้างและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จะเริ่มได้เห็นธุรกิจที่ขึ้นเป็นผู้นำในตลาด และธุรกิจที่ล้มเหลวได้ชัดเจนขึ้น”

ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์ กล่าว

เขาประเมินว่า ที่ผ่านมามีการตระเตรียมและจัดการเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและดิสรัปชั่นเกิดขึ้นจำนวนมาก ทว่าส่วนใหญ่จะมุ่งเป้าไปที่เรื่องของเทคโนโลยี แต่ในปี 2562 นี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่ภาพนั้นอีกต่อไปแล้ว

ปีนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อเทคโนโลยีระดับองค์กร ด้วยองค์กรธุรกิจตระหนักมากขึ้นว่าโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี แพลตฟอร์มที่มีอยู่ทั้งหมดที่ใช้ในธุรกิจ โมเดลธุรกิจ และสิ่งที่ธุรกิจต้องพึ่งพาเพื่อความอยู่รอดในอนาคตนั้น ไม่เหมาะสมกับเป้าประสงค์ทางธุรกิจอีกต่อไป

นอกจากนี้ ไม่สามารถแก้ไข ซ่อมแซม และปรับปรุงได้ง่ายๆ โครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมทำงานบนฮาร์ดแวร์ ซึ่งช้า ไม่ยืดหยุ่น เป็นแบบไซโล และค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นเงิน ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากพื้นที่จัดวาง พลังงานที่ใช้ พนักงานที่ต้องดูแล และในอีกไม่นานก็จะล้าสมัย และทำงานได้อย่างจำกัด

แนะใช้โมเดลไฮบริด

ด้วยเหตุดังกล่าว การผสานรวมเพื่อใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดกับทุกส่วนงานขององค์กรในแบบเรียลไทม์จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรตามความต้องการ หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนในอุตสาหกรรมได้อย่างทันที เพื่อให้ทันและล้ำหน้าคู่แข่งในตลาดได้

“เทคโนโลยีไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับธุรกิจอีกต่อไป แต่จะเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมในวงกว้างมากขึ้น ครอบคลุมถึงพฤติกรรมของลูกค้า ความเปลี่ยนแปลงของตลาด ทิศทางเศรษฐกิจ และนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี”

องค์กรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการติดตั้งและใช้งานโครงสร้างพื้นฐานไอทีรุ่นใหม่ คือ โครงสร้างพื้นฐานแบบไฮบริด เพื่อรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

ผลวิจัยล่าสุดของนูทานิคซ์ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนและการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานรุ่นใหม่จะได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะองค์กรขนาดใหญ่ในเอเชียกำลังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตนให้มากขึ้น เพื่อแข่งขันทั้งในภูมิภาคเดียวกันและกับภูมิภาคอื่น และสิ่งนี้จะนำมาซึ่งองค์กรรูปแบบใหม่

บิ๊กดาต้าหนุนขีดแข่งขัน

ธุรกิจอัจฉริยะ (Smart Business) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะองค์กรต่างๆ ใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้าและเทคโนโลยีล่าสุดเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นโครงการกับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร ซึ่งสถานการณ์ลักษณะนี้จะเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในปีนี้

ในอดีต การพยายามตรวจสอบและกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกจากทุกแง่มุมของธุรกิจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่การปรับใช้ระบบไฮบริดคลาวด์และระบบปฏิบัติการคลาวด์ระดับองค์กรอย่างกว้างขวางมากขึ้นจะช่วยแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องกันภายในองค์กร และเปิดทางสู่การกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ รอบด้าน และนำไปใช้งานได้จริง

“ความซับซ้อนที่เกิดขึ้น ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการสร้างความมั่นใจให้ธุรกิจว่าบริษัทต้องอยู่รอดและเติบโตในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะทำให้เราได้เห็นองค์กรดิจิทัลเพิ่มขึ้นในปีนี้”

อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นและชาญฉลาดจะใช้โครงสร้างพื้นฐานรุ่นใหม่ช่วยปรับวิธีการทำงาน การจัดการบุคลากร การทำธุรกิจ และรูปแบบทางธุรกิจของตน องค์กรเหล่านี้จะเริ่มเห็นประโยชน์ของข้อมูล วิเคราะห์ และใช้ข้อมูลทั้งหมดที่ตนมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เก็บนิ่งมานานหรือที่กำลังใช้งานอยู่ การทำงานร่วมกันได้ และการที่สามารถเห็นและรับรู้ความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ จะเป็นมาตรฐานของทุกส่วนในองค์กร

เพิ่มศักยภาพบุคลากร

ทวิพงศ์บอกว่า บุคลากรและสถานที่ทำงานจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทำนองเดียวกัน เทรนด์ด้านการจ้างงาน เศรษฐกิจและสังคม เป็นตัวสร้างแนวทางการทำงานใหม่ๆ ซึ่งสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

โดยพนักงานเปรียบเสมือนลูกค้า สามารถเลือกได้ว่าตนเองจะทำงานที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร ทั้งไม่ได้ “ยึดติด” อยู่กับสไตล์การทำงานหรือแนวทางปฏิบัติแบบเดิมๆ มีการปรับใช้เครื่องมือเทคโนโลยี รูปแบบ และสถานที่ในการทำงานตามความต้องการ

หากองค์กรสามารถรองรับเทรนด์ดังกล่าวได้ ก็จะทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพและความมุ่งมั่นในการทำงานเพิ่มขึ้น ทว่าจะต้องยอมแลกกับอำนาจในการ “ควบคุม” แบบเดิมๆ

"บุคลากรจะต้องมีทักษะหลากหลายด้าน แทนที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ถนัดด้านใดด้านหนึ่ง ต้องสามารถทำงานร่วมกับทีมงาน หน่วยงาน และแม้กระทั่งองค์กรธุรกิจที่หลากหลายพนักงานจะต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อก้าวให้ทันกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บุคลากรในองค์กรดิจิทัลจะต้องดำเนินการเชิงรุก ก้าวทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อองค์กรและต่อตนเอง"

กล่าวโดยสรุปได้ว่า เทคโนโลยีใดก็ตามที่สามารถเชื่อมโยงและทำให้เกิดการผสานการทำงานร่วมกันได้นับเป็นการวางรากฐานที่ดี การให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำความเข้าใจขนาดของตลาด ขอบเขตการทำงาน และขจัดความซับซ้อนจะสามารถสร้างนิยามใหม่ให้กับองค์กร