สกินแคร์ต้านมลภาวะ รับเทรนด์ฝุ่น PM2.5 ผลิตภัณฑ์จากแล็บยีสต์

สกินแคร์ต้านมลภาวะ รับเทรนด์ฝุ่น PM2.5 ผลิตภัณฑ์จากแล็บยีสต์

ม.เกษตรฯค้นคว้าวิธีสกัดเบต้ากลูแคนจากยีสต์ ขยายสู่อุตฯความงาม ส่งต่อเอกชนพัฒนาน้ำตบต้านมลภาวะ รับเทรนด์ฝุ่น PM2.5 เตรียมขยายสู่โมเดิร์นเทรดและออนไลน์

  พิลาณี ไวถนอมสัตย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการเริ่มจากการพัฒนากระบวนการหมักเอทานอลจากยีสต์เพื่อใช้เป็นพลังงาน แต่กระแสพลังงานเอทานอลค่อยๆ ตกลง บวกกับมีโรงงานผลิตเอทานอลเกิดขึ้นมากมาย ทำให้การแข่งขันสูง


  เมื่อศึกษาเชิงลึกพบว่า ผนังเซลล์ของยีสต์มีคาร์โบไฮเดรตกลุ่มเบต้ากลูแคนอยู่ ซึ่งสามารถต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มความสวยความงามได้ การวิจัยจึงเริ่มเบนเข็มมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดเบต้ากลูแคนจากผนังเซลล์ยีสต์ จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้คือ เป็นกระบวนการที่ใช้เอนไซม์สกัด ซึ่งไม่มีสารเคมีเลย ในขณะที่เบต้ากลูแคนอื่นๆ มีการใช้สารเคมีในการสกัด และเมื่อทดสอบพบว่า เบต้ากลูแคนมีฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันการอักเสบของผิวหนัง 

“ปกติแล้ว เบต้ากลูแคนเกรดนี้ จะนำเข้าจากสวิสเซอร์แลนด์หรือญี่ปุ่นในราคา 6-7 หมื่นบาทต่อกก. ในขณะที่ของเรา ราคาถูกกว่าราว 20% โดยสถาบันฯ เป็นผู้เลี้ยงและสกัดยีสต์ ในระดับเซมิไพล็อต ขนาด 70 ลิตร ซึ่งจะได้เบต้ากลูแคนราว 1 กิโลกรัม ซึ่งกระบวนการเลี้ยงยีสต์มีต้นทุนถึง40% ของต้นทุนทั้งหมด หากสามารถหาวัตถุดิบที่เป็นกากยีสต์จากโรงงานเบียร์หรืออื่นๆ จะทำให้ต้นทุนลดลง 30-40%” พิลาณี กล่าว

ฟาริด มะหะมัดยังกี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนเจอร์ วิสต้า จำกัด ที่มองเห็นเทรนด์ของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกลุ่มต้านมลภาวะ  (Antipollution) ประกอบกับรู้จักทางสถาบันฯ อยู่แล้ว เกิดเป็นความร่วมมือเพื่อพัฒนาสูตรน้ำตบต้นมลภาวะโดยใช้เบต้ากลูแคนจากยีสต์ เมื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ก็ยื่นข้อเสนอเข้าโครงการการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นฐานเทคโนโลยี เพื่อขอทุนสำหรับการทดสอบการระคายเคืองที่เดิร์มสแกนเอเชีย (DermScan Asia) และส่งทดสอบประสิทธิภาพในการกระตุ้นคอลลาเจนและการผลัดเซลล์ผิวที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

การทดสอบมาตรฐานต่างๆ ของนวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนา มีต้นทุนที่สูงมาก พิราณีชี้ว่า กลไกการสนับสนุนนี้ ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้วยการทดสอบตามมาตรฐานสากล และยังเสริมการต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้ไปได้ไกลขึ้น  

สกินแคร์สูตรน้ำตบต้านมลภาวะนี้ เริ่มเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการในช่วงปี 2561 เพื่อทดลองตลาด และเก็บข้อมูลจากลูกค้า ซึ่งผลตอบรับดีมาก แม้ยอดขายในปีแรกจะยังไม่สูงนักที่ 2-3 พันยูนิต แต่ในปี 2562 ที่มีมาตรฐานการทดสอบต่างๆ รับรองจะทำให้ตลาดกว้างขึ้น บวกกับกระแสฝุ่น PM2.5 ที่กำลังเผชิญอยู่ ทำให้มีโอกาสทางธุรกิจ จะสามารถเข้าสู่โมเดิร์นเทรด และช่องทางช็อปปิ้งออนไลน์ ที่จะทำให้สร้างยอดขาย 1 หมื่นยูนิตขึ้นไปหรือราวเดือนละ 1 พันยูนิต