หัวเว่ยเปิดสนามทดสอบ5จีแห่งแรกของอาเซียนในไทย

หัวเว่ยเปิดสนามทดสอบ5จีแห่งแรกของอาเซียนในไทย

“หัวเว่ย” ปักหมุดลงทุนไทย เทงบ 160 ล้านบาท ตั้งสนามทดสอบ 5 จี แห่งแรกในอาเซียน มุ่งวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ พร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา สร้างเครือข่ายความร่วมมือ หนุนการเติบโตอีโคซิสเต็ม ดันไทยดิจิทัลฮับของภูมิภาค

นายเจมส์ อู๋ ประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด กล่าวว่า เดินหน้าลงทุนในประเทศไทยด้วยการพัฒนาสนามทดสอบ 5จี หรือ “5G Testbed” เป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยงบประมาณการลงทุนราว 160 ล้านบาท(5 ล้านดอลลาร์)

ทั้งนี้ มุ่งการวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องตามลักษณะการใช้งานจริง สนามทดสอบแห่งนี้ได้รับการออกแบบเพื่อใช้เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยคอยให้คำปรึกษาแนะนำ ซึ่งรวมไปถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดประตูสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต ด้วยโมเดลธุรกิจที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว ขณะเดียวกันสตาร์ทอัพและพันธมิตรในอุตสาหกรรมสามารถเข้ามาใช้ทดสอบและเร่งผลักดันนวัตกรรมต่างๆ เพื่อปูทางการเติบโตให้กับธุรกิจได้

“หัวเว่ยพร้อมให้การสนับสนุน 5จีในไทยอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับการสร้างนวัตกรรมก่อนออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ คาดว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นแกนหลักสำคัญในการเชื่อมต่ออุปกรณ์นับพันล้านชิ้นเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ไอโอที, เอไอ, เครือข่ายคลาวด์ และนวัตกรรมอื่นๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่วนสำคัญช่วยขับเคลื่อนความมุ่งหวังของรัฐบาลไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้เร็วขึ้น และกลายเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคในอนาคต”

ปัจจุบัน หัวเว่ยได้ลงนามในสัญญา 5จี เชิงพาณิชย์แล้วกว่า 30 ฉบับ นับเป็นผู้นำของวงการที่มีสัญญา 5จี เชิงพาณิชย์มากที่สุด ที่ผ่านมาได้ส่งมอบสถานีฐานไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 25,000 ชุด

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวเสริมว่า การส่งเสริมการใช้งาน 5จีให้เติบโตต้องอาศัยอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่ง ความร่วมมือครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชาให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ทดสอบ โดยกสทช.จะจัดสรรคลื่น 5 จี พร้อมมีความร่วมมือกับผู้ให้บริการระบบสื่อสารและอินเทอร์เน็ต(ไอเอสพี)

เขากล่าวว่า เป็นโอกาสทองของประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมก่อนใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ อีกทางหนึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ร่วมกันหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องถึงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมในอนาคตว่าควรจะดำเนินงานอย่างไร หรือต้องแชร์อินฟราสตรักเจอร์กันหรือไม่ อย่างไร

อย่างไรก็ดี สิ่งที่คาดหวังจากศูนย์การทดสอบที่ศรีราชา นอกจากการทดสอบการใช้งานระบบและอุปกรณ์แล้ว คาดว่าจะทำให้เห็นอุปสรรคหรือข้อติดขัดต่างๆ ว่ามีอะไรมารบกวนคลื่นความถี่หรือไม่ อีกทางหนึ่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และโทรคมนาคมจะได้เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ เบื้องต้นคาดว่าคลื่นความถี่ที่ทางกสทช.จัดสรรมาให้ใช้จะเป็น 3.5 และ 26 กิกะเฮิรตซ์

“ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เป็นส่วนสำคัญช่วยเตรียมความพร้อมให้กับไทยก่อนเข้าสู่ยุค 5จี ส่วนว่าจะมีการปรับใช้เรื่องใดบ้างนั้น เบื้องต้นน่าจะเป็นการใช้แบบเฉพาะกิจและค่อยๆ แพร่กระจายไปในวงกว้าง ทั้งคาดว่าจะมีแอพสำหรับอุตสาหกรรมบางประเภทนำร่อง เช่น ด้านสาธารณะสุข การแพทย์ ยานยนต์ ดีอียังคงเปิดกว้างให้ผู้สนใจทุกรายเข้าร่วมโครงการ ขณะนี้มีการพุดคุยไปแล้วกว่า 20 ราย”