'เกษตร-ท่องเที่ยว' ประคองเศรษฐกิจไตรมาส4โตต่อเนื่อง

'เกษตร-ท่องเที่ยว' ประคองเศรษฐกิจไตรมาส4โตต่อเนื่อง

คลังชี้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง สวนทางเดือนธันวาคม 2561 มีสัญญาณชะลอตัว เหตุรายได้เกษตรกร-ท่องเที่ยวฟื้น

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.62 นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวง การคลัง พร้อมด้วย นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจประจำเดือนธันวาคม 2561 จะมีสัญญาณชะลอตัวอยู่บ้าง ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลก

ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของรายได้เกษตรกรในช่วงปลายปี 2561 บวกกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังขยายตัวเร่งขึ้นในไตรมาสสุดท้าย ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ในเกณฑ์ดีและรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้” โดยมีรายละเอียดสรุป ได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชน ในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี ขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 เดือน โดยเป็นการขยายตัวจากในเขตภูมิภาคที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี ขณะที่ในเขต กทม. หดตัวร้อยละ -3.5 ต่อปี และทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวร้อยละ -0.2 ต่อปี และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 ต่อปี ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง หดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี

อย่างไรก็ดี ภาพรวมในไตรมาสที่ 4 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 66.3 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยลบจากภาคการส่งออกที่หดตัว อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยบวกได้แก่ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐทั้ง ช็อปช่วยชาติ เที่ยวเพื่อชาติ และเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ในเดือนธันวาคม 61 ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร และการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้ดี โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 16.5 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ปริมาณจำหน่วยรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 24.9 ต่อปี สอดคล้องกับยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 16.4 ต่อปี

สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ หดตัวที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี นับเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี

อย่างไรก็ดี ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 10.5 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ภาษีธุรกรรมอสังหาฯ ขยายตัวร้อยละ 9.4 นอกจากนี้ สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง อยู่ที่ระดับ 107.2 คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อปี จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดกระเบื้องสูงขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อปี

อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนธันวาคม 2561 มีมูลค่า 19.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวที่ร้อยละ -1.72 ต่อปี อย่างไรก็ดี การส่งออกในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ อาเซียน ยังคงขยายตัว สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 18.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนธันวาคม 2561 กลับมาเกินดุลจำนวน 1,065 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 การส่งออกมีมูลค่า 62.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนในเดือนธันวาคม 61 ได้รับแรงสนับสนุนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและสถานการณ์การท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี จากหมวดพืชผลสำคัญและหมวดประมงที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 และ 2.0 ต่อปีตามลำดับ ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวเล็กน้อยที่ -0.1 ต่อปี นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย ในเดือน ธันวาคม 2561 มีจำนวน 3.8 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.7 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อปี จากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย เป็นสำคัญ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวชาวจีนที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก ประกอบกับนักท่องเที่ยวชาวฟิลิปปินส์ และอินเดียยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนธันวาคม 2561 มีมูลค่า 204.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.3 ต่อปี

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 93.2 เป็นการปรับลดลงโดยมีสาเหตุมาจากการเร่งผลิตสินค้าในเดือนพฤศจิกายนเพื่อชดเชยก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมถึงความกังวลของผู้ประกอบการต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้ ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 93.3

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการลดลงของราคาพลังงาน และการชะลอตัวของราคาอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 และ 0.7 ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยในเดือนธันวาคม 2561 อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวต่ำสุดในรอบ 24 เดือน หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.5 แสนคน และไตรมาสที่ 4 ปี 2561 อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ตามลำดับ ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 41.8 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 205.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.2 เท่า