เทคโนโลยีต่อสู้ PM 2.5

เทคโนโลยีต่อสู้ PM 2.5

ดร.อดิสร เมธีวิจัยอาวุโส สกว.เกาะติดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อ้างอิงรายงานการศึกษาของกรมควบคุมผลพิษ ชี้ชัดว่าฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ สาเหตุหลักมาจากควันจากรถดีเซล พร้อมทั้งยกตัวอย่างการจัดการปัญหานี้ของจีน ที่ใช้งบถึง 7 ล้านล้านบาท

ฝุ่นพิษกลายเป็นปัญหาใหญ่ของชาวกรุงเทพ เมื่อกรุงเทพถูกปกคลุมด้วยฝุ่นพิษ จนทำให้หลายคนรู้สึกแสบคอ แสบจมูก และมีโอกาสเป็นโรคทางเดินหายใจ ฝุ่นพิษที่ว่าคือ PM 2.5 โดยที่ PM ย่อมาจาก Particulate Matter หรือฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร หรือเล็กกว่าเส้นผมซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100 ไมโครเมตร ถึง 40 เท่า และถ้าเทียบกับขนาดเม็ดเลือดแดงของมนุษย์ จะเล็กกว่าถึง 3 เท่า โดยประมาณ

ฝุ่นที่มีขนาดละเอียดมากขนาดนี้อันตรายมาก เพราะสามารถเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางปอด เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ จากหลักฐานทางการแพทย์พบว่า ฝุ่น PM 2.5 ไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และถ้าเราได้รับเพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 36 เปอร์เซ็นต์

ฝุ่นพิษที่ว่ามีสาเหตุและที่มาจากอะไร มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง มีทั้งที่บอกว่าเกิดจาก ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมกัน หรือบ้างก็บอกว่าเกิดจากการเผาไร่อ้อยไร่ข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้าน เกิดเป็นหมอกควันและลอยมาปกคลุมกรุงเทพ

วันนี้ผมได้ไปสืบเสาะหาข้อมูล พบรายงานฉบับหนึ่งน่าสนใจที่ได้มาจากกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อปีที่ผ่านมาพบว่าแหล่งที่มาของฝุ่น คือ ไอเสียดีเซล เป็นอันดับ 1 การเผาชีวมวล เช่น การเผาขยะเป็นอันดับรองลงมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาฝุ่นในประเทศไทยนั้นต้องร่วมมือกันแก้ไขทุกคนทุกภาคส่วน รวมทั้ง การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น ปัญหาฝุ่นไม่ใช่เรื่องใหม่ ถ้าเรามาดูกรณีศึกษาจากประเทศจีน ซึ่งต่อสู้กับปัญหาฝุ่นควันพิษมานานหลายทศวรรษ รายงานเมื่อปี 2018 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าประชากรโลก 9 ใน 10 คนหายใจอากาศปนเปื้อนมลพิษเข้าไป และเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากถึง 7 ล้านคนในปี 2016 และไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่ประสบปัญหานี้ หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

ไม่นานมานี้วิกฤติปัญหาหมอกควันในจีนทวีความรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในปี 2015 ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 พุ่งสูงถึง 568 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยรวมของทั้งประเทศ และที่เมืองเสิ่นหยาง ค่าฝุ่นละอองพุ่งสูงเกินกว่า 1,400 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ดังนั้น จีนจึงใช้งบประมาณสูงถึง 7 ล้านล้านบาทเพื่อแก้ปัญหานี้ เช่น ลดการใช้พลังงานถ่านหินลงครึ่งหนึ่ง ลดจำนวนรถใช้น้ำมันบนท้องถนน ควบคุมให้โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยควันเสียในพื้นที่สาธารณะ มีการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ เช่น โดรนพ่นสารกำจัดหมอกควันเพื่อจับตัวกับฝุ่นควันทำให้ฝุ่นคันค่อยๆเคลื่อนตัวตกลงมายังพื้นดิน การใช้สปริงเกอร์ขนาดยักษ์ติดตั้งบนตึกสูงแล้วฉีดน้ำลงมา ช่วยลดฝุ่นละอองในความสูงไม่เกิน 300 ฟุตจากพื้นดิน การพัฒนาแอพพลิเคชั่นตรวจเช็คสภาพอากาศและฝุ่น เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถติดตามสถานการณ์และดูแลป้องกันตัวเอง มีการติดตั้งเซนเซอร์วัดฝุ่น และแก๊สพิษอื่นๆทั่วเมืองและส่งข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์มือถือ การเปลี่ยนจากพลังงานถ่านหินและน้ำมันเชื้อเพลิงไปสู่พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และแก๊สธรรมชาติ หนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น

ที่ง่ายๆ ที่บ้านเราควรทำมากที่สุด และได้ผลเร็วที่สุดคือ การบังคับใช้กฎหมายห้ามเผาชีวมวลในที่โล่งแจ้ง เช่น เผาเพื่อเปิดหน้าดิน เผาขยะข้างถนน เป็นต้น เพราะทุกวันนี้ก็ยังเห็นการเผาโดยที่ไม่มีใครควบคุมดูแลและไม่ถูกลงโทษทางกฎหมาย เราอาจจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นแจ้งหน่วยงานของรัฐถึงตำแหน่งสถานที่ที่มีการเผาและก่อให้เกิดควันเพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อไป ถ้าเราทุกคนช่วยกันและใช้เทคโนโลยีมาช่วย เราก็จะข้ามผ่านวิกฤติฝุ่นพิษ PM2.5 นี้ไปได้ด้วยกันครับ

*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์, เมธีวิจัยอาวุโส สกว.