“ศาสตร์”VS“ศิลป์”พ้นหลุมพรางดิจิทัล

“ศาสตร์”VS“ศิลป์”พ้นหลุมพรางดิจิทัล

เจ้าของแบรนด์เจ็บมาเยอะ..!! กับการหว่านเงินเข้าใส่แพลตฟอร์ม“ดิจิทัล”เพียงเพราะกลัวตกเทรนด์  สุดท้ายแบรนด์กลับไม่ถูกจดจำ กูรูเตือนดิจิทัล“ไม่ใช่นิพพาน”ต้องเลือกใช้อย่างมีสติ ผสม“ศาสตร์”และ“ศิลป์”ดันแบรนด์โผล่พ้นหลุมพราง

นักการตลาด นักกลยุทธ์สื่อสาร หรือเจ้าของสินค้าต่างก็รู้ดีว่า รถด่วนขบวนดิจิทัล เคลื่อนมาหาเราอย่างรวดเร็ว ในวิถีปัจจุบันทุกบริษัทต่างใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงาน การวางแผนกลยุทธ์ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลมาประมวลผลด้านการตลาด (Data Driven Marketing) การใช้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI -Artificial Intelligence), เครื่องจักรกลเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Machine Learning), หุ่นยนต์ กลายมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนธุรกิจ และสื่อสารการตลาด

ผลจากการประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณา จากมายด์แชร์ เอเยนซี่เครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสารในเครือ WPP Network ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า “ช่องทางออนไลน์ที่ถือกำเนิดขึ้นหลากหลายแพลตฟอร์มคืบคลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคน นับวันจะเพิ่มขึ้นเป็นเครือข่ายใยแมงมุม เพียงแค่เว็บไซต์ในปัจจุบันปรากฏบนจอมากมายถึง 1,800 ล้านเว็บไซต์ ทว่ามีเพียง 172 ล้านเว็บไซต์หรือเศษเสี้ยวเท่านั้น ที่อัพเดทข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ไม่นับรวมโลกโซเชียล ทุกๆ หน้าจอที่เราเข้าไปดูในแต่ละวัน จะมีโฆษณาปะปนบนจอให้เราเห็นถึง 4,000 ชิ้นต่อวัน 

ปัทมวรรณ สถาพร กรรมการผู้จัดการ มายด์แชร์ ยังเผยถึงเทรนด์การตลาดปี 2562 ว่า แม้ดิจิทัลยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง แต่ยังไม่ใช่สัดส่วนของการชิงเม็ดเงินโฆษณาหลัก ที่ในปัจจุบันอัตราการซื้อสื่อโฆษณาเติบโต 4.8 % มีมูลค่ารวมราว 124,205 ล้านบาท 

สื่อหลักที่ครองส่วนแบ่งเม็ดเงินโฆษณา ยังคงเป็นสื่อดั้งเดิม (Traditional) ทีวี ยังเป็นหลักในการครองเม็ดเงินโฆษณาสูงสุดสัดส่วน 58% หรือมูลค่า 72,950 ล้านบาท เติบโต 4.1% จากปีก่อน รองลงมาคือ สื่อนอกบ้าน (Out of Home) เช่น ป้ายโฆษณา บิลบอร์ด สื่อเคลื่อนที่ และสื่อตามร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต

ส่วนสื่อดิจิทัล สัดส่วนจะค่อยๆเพิ่มขึ้น ตามเทรนด์การเติบโตของต่างประเทศที่แซงหน้าสื่อดั้งเดิมแล้ว อย่างในสหรัฐ และยุโรป ที่การใช้เม็ดเงินผ่านสื่อดิจิทัลมีสัดส่วนครึ่งหนึ่ง ส่วนในไทยคาดว่าจะขยับเป็นสัดส่วน 40-50% ภายใน 3-5 ปีจากนี้ โดยสื่อเก่า อย่างทีวี จะลดลงเหลือ 30%

ทว่า แม้เจ้าของแบรนด์จะกระโดดเข้าสื่อใหม่(Digital) มากขึ้น แต่คำว่าคนไทยทั้งประเทศ (Nationwide) และกลุ่มคนทั่วไป (Mass) การยิงตรงที่ทำให้คนเห็นทั้งหมดกลับไม่ได้อยู่ในแพลตฟลอร์มดิจิทัลทั้งหมด

“ถ้าเป็นคนในกรุงเทพฯอาจจะมีสัดส่วนมากกว่า 50% เพราะเสพสื่อผ่านมือถือเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าคนต่างจังหวัด โฆษณาที่ต้องการทำให้คนเห็นมากทั่วประเทศในครั้งเดียว ยังคงเป็นทีวี แลนด์สเคปยังเป็นแบบนี้ แต่ในอนาคตขึ้นอยู่กับว่าอินเตอร์เน็ทจะเข้าถึงประชากรทั่วประเทศมากขึ้นแค่ไหน” เธอให้ความเห็น

ด้านข้อมูลจาก เฟลชแมน ฮิลลาร์ด เห็นตรงกันว่า อัตราการเกิดขึ้นของสื่อดิจิทัลที่พรุ่งพรวด โดยไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ด้านการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ เช่น เป็นอันดับ 1 ของโลก ด้านการใช้งานอินเตอร์เน็ตสูงสุด 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน ส่วนการใช้งานด้านโซเชียลมีอัตราสูงถึง 3 ชั่วโมง 10 นาทีต่อวัน

สถิติบนโลกโซเชียลของการใช้งานในอัตราที่สูง แต่ในทางกลับกัน กลายเป็นความท้าทายแบรนด์ที่ป่าวร้องให้คนสนใจแข่งขันกันบนโลกออนไลน์ ที่ไม่อาจสะกดใจให้คนจดจำแบรนด์ (Brand Awareness) ได้มากนัก 

ไมค์ เคอร์ลีย์ กรรมการผู้จัดการโซเชียล แอนด์ อินโนเวชั่น เฟลชแมน ฮิลลาร์ด เผยถึงผลการสำรวจการสื่อสารของแบรนด์ระดับโลกว่า กว่า 50 แบรนด์ในต่างประเทศ เช่น กูเกิล, แอปเปิ้ล, อเมซอน, ไมโครซอฟต์, ฮอนด้า, โคคา โคล่า และ ซัมซุง พบว่า ภูมิทัศน์สื่อดิจิทัลที่เปลี่ยนไปทำให้ประชากรอินเตอร์เน็ทเกิดขึ้นมากมาย

ความท้าทายที่แบรนด์ต้องเจอ 4 เรื่อง คือ 1.ประชากรโลกบนอินเตอร์เน็ทมีถึง 4,200 ล้านคน อยู่บนโซเชียลถึง 3,400 ล้านคน เครือข่ายโซเชียลมีมากมายทุกเจนเนเรชั่นที่เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มมีการคุยข้ามเจนเนเรชั่น คนบนโลกโซเชียลมีบัญชีเฉลี่ย 5.5 บัญชีต่อคน จึงแข่งขันกันผลิตคอนเทนท์ ทั้งงานแต่งเพื่อน อวดโฉมสัตว์เลี้ยง ที่ชิงพื้นที่กันสุดฤทธิ์

บนเฟซบุ๊คมีวิดิโอกว่า 8,000 ล้านผู้เข้าชมต่อวัน และคนชมวิดีโอบนยูทูป 1,000 ล้านชั่วโมงต่อวัน และมีการอัพโหลดรูปบนอินสตาแกรม 95 ล้านรูปต่อวัน

2.มีการถกเถียงกันบนโลกโซเชียลมากขึ้น เพราะคนบนโลกโซเชียลมีอำนาจในการแสดงความคิดเห็นในทุกเรื่อง ทั้งการเมือง และเรื่องอื่น ที่แบรนด์จะต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ การพูดคุยผ่านบทสนทนา

3.แบรนด์ต่างทำคอนเทนท์สื่อสารคล้ายกันอยู่บนโซเชียล ออกแบบกลยุทธ์เหมือนกัน เพื่อชิงความสนใจบนโซเชียล แต่ผลลัพธ์กลับไม่ทำให้แบรนด์สร้างโดดเด่นและแตกต่าง เป็นที่จดจำบนโลกโซเชียล

4.แบรนด์ผลิตคอนเทนท์แข่งขันบนโลกโซเชียลถึง 1,300 ชิ้นต่อปี หรือเฉลี่ย 3-5 คอนเทนท์ต่อวันต่อ 1 แบรนด์ เพียงเฉพาะ 50 แบรนด์ระดับโลกที่เข้าไปสำรวจมีการผลิตคอนเทนท์ถี่ถึง 5,573 ชิ้นต่อเดือน เป็นเรื่องยากที่จะโดดเด่นเหนือการแข่งขัน

การแข่งขันมากมายบนโลกโซเชียล ค้นพบว่า เมื่อแบรนด์ต่างผลิตคอนเทนท์มาชิงพื้นที่กันบนโลกโซเชียล ปรากฏว่าทั้ง 50 แบรนด์ระดับโลกที่ทุ่มเงินไปมีกว่า 98% กลับเป็นแบรนด์ที่มีภาพเบลอ คนไม่จดจำ มีเพียง 2% เท่านั้นที่โผล่พ้นน่านน้ำการแข่งขันกันดุเดือด ฉายความโดดเด่น ทำให้คน ว้าวได้!!

ส่วน 98 % ที่ทุ่มเงินมหาศาลไปในแพตฟอร์มดิจิทัลหลักๆ ก็คือ เฟซบุ๊ค, ไลน์, ยูทูป, อินสตาแกรม, และทวิตเอร์ เข้าถึงทุกช่องทาง แพลตฟอร์มบนโซเชียลกลายเป็นเป้าหมายทำให้ทุกแบรนด์แห่แหนเข้าไปทุกช่องทาง

นี่คือ “หลุมพรางดิจิทัล" ที่ล่อให้ทุกคนกระโดดเข้าไปช่วงชิงพื้นที่ เพียงเพื่อหวังยอดไลค์ แชร์ แต่ไม่เข้าใจเป้าหมายชัดเจนของแบรนด์ ทำให้สุดท้ายแบรนด์ก็ถูกกลืนไปกับคอนเทนท์ท่วมท้นบนแพลตฟอร์ม

-------------------------

กับดัก-กลเกมคำหรู เทรนด์ & Me too

อาสา ผิวขำ ผู้อำนวยการบริหาร สายงานโซเชียล แอนด์ อินโนเวชั่น เฟลชแมน ฮิลลาร์ด ประเทศไทย คลี่ปมให้นักการตลาด หรือลูกค้าที่กำลังกระโจนใส่โซเชียลได้ยั้งคิดว่า การทำสิ่งเหล่านี้ตามอัลกอริทึม โดยไม่วางกลยุทธ์ที่ดีพอจะติด”กับดัก” ของความเป็นดิจิทัล เพียงแค่เดินตามคำว่า “เทรนด์” และ “ Me too”

เมื่อเกิดเป็นเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล มีเครื่องมือล้ำๆ นำสมัยใหม่ๆ มากมายเข้ามาช่วยนักการตลาด อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI), เทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริง และสภาพแวดล้อมเสมือนจริง (Augmented Reality-AR และ Virtual Reality-VR),โปรแกรมแชทอัตโนมัติ (Chatbot) และข้อมูลมากมายมหาศาล (Big Data) หลายองค์กรต่างลงทุนนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ เพื่อการการเข้าไปทุกแพลตฟอร์มบนโลกโซเชียล เพราะคำว่า “กลัวตกขบวน

“มีเครื่องมือมากมาย ทั้งบิ๊กดาต้า แชทบอท เอไอ และวีไอ สุดท้ายไม่ใช่เพียงแค่มี แต่จะต้องดึงเทคโนโลยีมาใช้แก้ไขปัญหา ตอบโจทย์แบรนด์ได้อย่างไร เช่น คนซื้อของกลางคืนไม่มีคนตอบจึงต้องใช้โปรแกรมแชทบอทมาช่วย"

ไม่ใช่เพียงเฉพาะการเห็นคู่แข่ง หรือ คนอื่นทำเราก็ทำตามกันไป เรียกว่า “Me too” เพียงแค่ต้องการยืนอยู่ในระยะปลอดภัย Play Safe เซฟเงิน และเซฟตัวเอง กลัวถูกเจ้านายตั้งคำถาม ถ้าทำอะไรที่แหลมๆ เกินไป

โดยเฉพาะการแห่แหนเข้าไปซื้อโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ในโลกโซเชียลต่างๆ ซึ่งภูมิทัศน์ (Landscape) เปลี่ยนไปจาก โฆษณาที่ได้มาฟรีๆ (Earn Media) มีการไลค์ แชร์ให้แบรนด์ฟรีๆ กลายเป็นโฆษณาที่ต้องจ่ายเงิน (Paid Media) จะรับมืออย่างไรไม่ให้ถมเงินจมลงไป เพราะระบบซื้อโฆษณาในดิจิทัลคือระบบประมูล

“จากระบบอัลกอรึทึมเปลี่ยนไปจากคนกดไลค์ แชร์ และคนเห็นมากโดยไม่ต้องเสียเงิน เมื่อแบรนด์เข้ามามากขึ้นก็ต้องเสียเงินบูทโพสต์ให้คนเห็นเยอะขึ้น ราคาโฆษณาเป็นระบบการประมูลอยู่ที่ดีมานด์-ซัพพลาย เมื่อคนเยอะขึ้นก็ต้องชิงพื้นที่ให้คนเห็นในเปอร์เซ็นต์คนเท่าเดิม แบรนด์ที่เข้ามาซื้อโฆษณาต่อๆ มาจึงใช้เงินเยอะขึ้น” เขาเล่าระบบ

คนซื้อสื่อบนโลกดิจิทัลต้องคิดเสมอว่า ซื้อไปเพื่ออะไร (Pay for what) ไม่เช่นนั้นถูกจำกัดให้ เล่นตามเกม” เพราะระบบซื้อโฆษณาบนโซเชียลมิเดีย จำกัดวัตถุประสงค์ไปไว้แค่ไกด์ไลน์ 4-5 ข้อ 

ถ้าเราเล่นตามเกณฑ์บนแพลตฟอร์มนั้นโดยไม่คิดวางกลยุทธ์ ก็เล่นไปตามเกมเขา ตัวเราเองที่ผิดที่ไปยอมง่ายๆ แพลตฟอร์มทำให้ง่ายแต่เราไม่ต้องไปง่ายตาม” เขาแนะถึงการวางกลยุทธ์บนแพลตฟอร์มที่ต้องรู้เท่าทันมากขึ้น

ที่สำคัญดิจิทัลไม่ใช่ทุกสิ่งที่เข้าถึงคน หนึ่งแคมเปญควรมีหลากหลาย ทัชพอยท์ ที่เข้าถึงคน ทั้งทีวี และ สื่อนอกบ้าน (Out of Home) ยังมียอดเติบโตที่น่าสนใจ รวมไปถึงงานแฟร์ ไม่ใช่แค่อีเวนท์ขายของ แต่เป็นช่องทางเข้าไปปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับคนโดยตรง ส่วนการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ช่องทางเกมแคสเตอร์บนยูทูป เป็นช่องทางที่เอเจนซี่ นักวางแผนต้องทำความเข้าใจวัยรุ่นยุคปัจจุบัน

ดิจิทัลไม่ใช่ นิพพาน ยังมีอีกหลากหลายทางเลือกที่ต้องคิดถึง"  เขาย้ำ เอเจนซี่ทำงานแบบเดิม ที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตอาจจะไม่เกิดขึ้นในยุคนี้

เขายกตัวอย่าง แบรนด์ดังระดับโลก H&M พลาด ขาดความรอบคอบมองข้ามความรู้สึกละเอียดอ่อนของคน โดยเอาเด็กชายผิวดำ มาสวมเสื้อหมวก H&M สีเขียวบนข้อความบนเสื้อที่ว่า "Coolest Monkey in the jungle" สุดท้ายโดนผู้นำทางความคิด ผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ถล่มยับว่าเป็นการเหยียดสีผิว แม้เป็นการโปรโมทในสหรัฐ แต่ช็อปH&Mถูกถล่มยับจนต้องประกาศปิดสาขาในแอฟริกา

----------------------------

“3คาถาแบรนด์โผล่พ้น หลุมพรางดิจิทัล

ไมค์ เคอร์ลีย์ กรรมการผู้จัดการโซเชียล แอนด์ อินโนเวชั่น เฟลชแมน ฮิลลาร์ด ไขปริศนาของกับดักท่ามกลางแบรนด์ที่ผลิตคอนเทนท์มากมายบนสมรภูมิดิจิทัล กลายมาเป็นแบรนด์ที่โดดเด่น คนจดจำ (Outstanding) สื่อสารอย่าง "ทรงพลัง” จะต้องมี ความกล้า”(Courage) หมายถึง กล้าแตกต่าง สื่อสารในสิ่งที่คิด เป็นตัวตนของแบรนด์ ไม่ว่าจะล้มเหลว ก็ยังคงยึด คำมั่นสัญญากับผู้บริโภค (Commitment) จุดยืนและมุ่งมั่นของของแบรนด์ ท้ายที่สุดจะเป็นบุคลิกที่คนจดจำได้ และเชื่อถือ

ก่อนสื่อสารนักวางแผนจะต้องตอบโจทย์ 3 คำถาม คือ 

1.ต้องการใช้โซเชียลเน็ทเวิร์คอย่างไร เป็น โทรโข่งหรือ โทรศัพท์” บางแบรนด์แค่เพียงตะโกนกรอกหูผู้บริโภค เหมือนโทรโข่ง ไม่ใช่เลือกเพียงเพราะคนอื่นทำ แต่ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ ต้องการให้คนรับรู้ในวงกว้าง ให้ดังที่สุด หรือ สร้างประสบการณ์แบบเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย บางแบรนด์คุยกับคนในโลกโซเชียลมากมาย แต่พบว่า 9/10 ของคอนเทนท์ที่แบรนด์คุยไปแล้วไม่มีคนตอบกลับ เพราะตอบโจทย์ไม่ได้ว่าต้องการอะไร

2.ใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร มีเครื่องมือเทคโนโลยีเยอะแยะมากมายหลากหลายแพลตฟอร์ม จึงต้องฟังเสียงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย โดยการใช้ข้อมูลบนแพลตฟอร์มดิจิทัล มาเป็นไกด์ไลน์ ทั้ง บิ๊กดาต้า ข้อมูลเชิงลึก (Insight) มาวิเคราะห์ (Data Science) ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ (Idea) ที่สื่อสารอย่างมีศิลปะ เป็นการวางกลยุทธ์โดยผสมผสานระหว่าง “ศาสตร์”และ “ศิลป์”

3.ผลลัพธ์สุดท้ายของแคมเปญ (Performance) หรือ วัตถุประสงค์ (Objective) คืออะไร สิ่งนี้ยากเพราะลูกค้า และนักวางแผนมักหลงทิศ ติดกับดักยอดไลค์ แชร์ บางแบรนด์มีคอมเมนท์เข้ามามากมาย แต่ไม่ได้พูดเกี่ยวกับแบรนด์เลย ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องตกผลึกให้ชัดต้องการสื่อสารเพื่ออะไร หวังผลระดับไหน เริ่มตั้งแต่ สร้างการรับรู้ (Awareness) ชื่นชม การปฏิสัมพันธ์ นำไปสู่ยอดขาย จนท้ายที่สุดกลายเป็นผู้พิทักษ์ เป็นพวกเดียวกัน (Brand Advocacy) จนถึง สร้างความจงรักภักดีกับแบรนด์ ( Brand Royalty)

----------------- 

เทรนด์สกัดกลยุทธ์อย่างมีสติ

คำว่า เทรนด์ ยังเป็นคำหรูที่นักการตลาด และนักวางแผน นักโฆษณา ต้องสอดส่อง ทำความเข้าใจแนวโน้มแห่งพฤติกรรมผู้บริโภคและกลยุทธ์การวางแผนในวันข้างหน้า 

ทว่าการวิ่งตามเทรนด์โดยขาดการยับยั้ง ไต่ตรอง วางแผน เข้าใจวัตถุประสงค์และตัวตนของแบรนด์ โดยเลือกใช้เครื่องมืออย่างเท่าทัน ท้ายที่สุดการกลัวตกเทรนด์จะทำให้แบรนด์ ตกอยู่ในวังวนหลุมพราง

ไมค์ เคอร์ลีย์ กรรมการผู้จัดการโซเชียล แอนด์ อินโนเวชั่น เฟลชแมน ฮิลลาร์ด เล่าถึงวิธีการวางแผนของกลุ่มธุรกิจเอเจนซี่ว่า จะวางสัดส่วน 60 %วางกลยุทธ์ที่แบรนด์ประสบความสำเร็จก่อนหน้านั้นให้กับลูกค้า และอีก 30% วางแผนตามแนวคิดของประสบการณ์ทำงานที่ได้ผลลัพธ์สำเร็จ และอีก 10% จะเป็นการทดลองวิจัยสิ่งใหม่ เทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก เพื่อให้นักวางแผนและแบรนด์เรียนรู้ร่วมกัน แต่ละแผนก็จะเสนอทางเลือกสิ่งให้กับลูกค้าที่ชอบลองสิ่งใหม่

เขาชู 3 เทรนด์ที่กำลังมาแรงในอนาคต ที่เริ่มนำมาใช้ให้กับลูกค้าพร้อมกันกับทดลอง ประกอบด้วย

1.เทรนด์เสิร์ซข้อมูลด้วยเสียง (Voice Search) การค้นหาหรือการพูดคุยด้วยเสียงเข้ามาทำให้คนใช้งานสะดวกขึ้นเริ่มมาแน่แล้ว ล่าสุดการเปิดตัว Alexa สิ่งประดิษฐ์จาก Amazon เครื่องมือการค้นหาตอบคำถามพูดคุยผ่านเสียง ทีทำงานได้อย่างน่าทึ่ง ทำให้คนทุกคำถาม ค้นหา เชื่อมฟังก์ชันการทำงานกับเทคโนโลยีผ่านAlexa อีกเทคโนโลยีหนึ่งคือ Google Assistant จากกูเกิล ที่ทำงานคล้ายกัน เป็นเทคโนโลยีเข้ามาทำให้ชีวิตสะดวกขึ้น 

แบรนด์จะต้องเท่าทันเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยคิดล่วงหน้าทำให้แบรนด์กลายเป็นส่วนหนึ่งของการค้นหาผ่านเสียงได้อย่างไร เมื่อเห็นโอกาสก่อนแล้วทำได้ ก็จะเป็นตัวพลิกเกมทำให้แบรนด์โดดเด่น

2.ผู้ทรงอิทธิพล หรือผู้นำทางความคิด (Virtual Influencers) ตัวตน แคแรคเตอร์จากโลกเสมือนจริงที่ปรากฎตัวบนโลกออนไลน์ เริ่มถือกำเนิดขึ้น ซึ่งขณะนี้มีหลายแคแรคเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้น อยู่ในการทดลอง เช่น Lil Miquela นางแบบซุปเปอร์โมเดลและนักร้อง บนโลกเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นทดลองโดยบริษัทในแคลิฟอร์เนีย ที่เปิดตัวในอินสตาแกรม (IG) มีคนติดตามดูชีวิตบนโลกเสมือนจริงของเธอกว่า 1.5 ล้านคน, หรือ Laila Blue นางแบบโลกเสมือนจริงจากตะวันออกกลาง รวมไปถึงนักข่าวปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังจะมีความสำคัญมากขึ้น

แบรนด์และนักวางแผนจึงต้องคอยสอดส่องและทำงานดูผู้นำทางความคิดเหล่านี้ หากลยุทธ์ทำให้แบรนด์ไปเกี่ยวข้องกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร และทำอย่างไรให้แบรนด์ถูกพูดถึง ในไม่ช้าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในเมืองไทย แต่แคแรคเตอร์ทำนองเดียวกันนี้ก็มีอยู่บ้างแล้วในไทย เช่น เจี๊ยบเลียบด่วน

3.คอนเทนท์วิดีโอ บนยูทูป ที่ปัจจุบันเป็นสัดส่วนการใช้ที้เติบโตอย่างสูง คนไทยมีบัญชียูทูปในปัจจุบัน45ล้านบัญชี และเข้าไปดูวิดีโอ17ล้านครั้งต่อวัน แบรนด์จะต้องเข้าใจวิธีการสื่อสารทำให้คนใช้ยูทูปหาวิธีการเข้ามาสร้างเครือข่ายและสร้างสังคมกับแบรนด์

ปัทมวรรณ สถาพร กรรมการผู้จัดการ มายด์แชร์ แบ่งปันข้อมูลโลกดิจิทัลเริ่มเข้ามามีบทบาทกำหนด 5 เทรนด์การตลาดในปี 2562 เทรนด์ ประกอบด้วย 

1.คอนเทนท์วิดีโอ (Steaming Content) มีการเติบโตและได้รับความนิยมบนแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง อาทิ ไลน์ทีวี เน็ทฟลิกซ์และยูทู้ป คอนเทนท์ก็ไม่สนใจเท่าเนื้อหาที่โดนใจ

2.เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network)เป็นสื่อที่กำลังมีการเติบโตเป็นแพลตฟอร์มหลักที่คนไทยติดอันดับการใช้งานมากอันดับต้นๆ ของโลก จึงทำให้นักวางแผนโฆษณาควรวางให้เป็นสื่อในการวางแผน การสร้างการรับรู้ สร้างปฏิสัมพันธ์ (Engagement) และการใช้ผู้ทรงอิทธิพล (Influencer) หรือการแทรกเนื้อหาผ่านเพจต่างๆ

3.พัฒนากลยุทธ์สื่อสารจนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อสินค้า (Shoppable Media) ผลของการเติบโตอีคอมเมิร์ซ ทำให้เกิดโอกาสของการพัฒนาสื่อที่วางแผนให้เกิดการซื้อขายจากสื่อโฆษณา โดยเฉพาะสินค้ากลุ่ม FMCG เป็นกลุ่มสินค้าที่ตัดสินใจซื้อได้รวดเร็ว จึงมีโอกาสต่อยอดจากการสื่อสารดิจิทัล เพื่อให้เกิดการทำงานได้ครบวงจรที่วัดผลไปถึงการทำยอดซื้อสินค้าได้

4.นำเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยวางแผนการตลาด(New Tech Reality Check) เช่น บิ๊กดาต้า (Big Data), ปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence), และเครื่องยนต์เรียนรู้ (Machine Learning) และการจำลองภาพเสมือนจริง (Virtual Reality ) นำมาใช้ประกอบการวางแผนวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก(Insight) ผู้บริโภค

และ 5. เทรนด์ของการหลีกเลี่ยงโฆษณา (Appealing to ad avoiders) โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาปิดกั้นการเข้าถึงโฆษณา ซึ่งมีจำนวนมากในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น นักการตลาดออกแบบกลยุทธ์สร้างสรรค์ในการผลิตคอนเทนท์ดี จึงจะดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาชมเนื้อหา