'กฤษฏา' ไฟเขียวซื้อเครื่องบินฝนหลวง 1.4 พันล้าน

'กฤษฏา' ไฟเขียวซื้อเครื่องบินฝนหลวง 1.4 พันล้าน

"กฤษฏา" ไฟเขียวกรมฝนหลวงฯซื้อเครื่องบินใหม่ 2 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ เทงบกว่า 1.4 พันล้าน อธิบดีเร่งเจรจากพ.เพิ่มอัตรากำลัง

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวมอบนโยบายให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เนื่องในงานวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงฯ ครบรอบ 6 ปี โดยกล่าวว่า กรมฝนหลวงฯ สามารถดูแลชีวิตความเป็นอยู่เกษตรดียิ่งขึ้น หัวใจสำคัญการผลิต คือ เรื่องดิน น้ำ อากาศ ประเทศไทยมีพื้นที่ทำเกษตร 149 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทาน 30 ล้านไร่ ส่วน 120 ล้านอยู่นอกเขตต้องอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และฝนหลวงที่เกษตกรพึ่งพาได้ ทั้งนี้ การทำฝนหลวงแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ใช้เทคนิกนิกฝนหลวงพระราชทาน ทำให้เกิดฝนตกในกรุงเทพฯและรอบนอก เป็นเรื่องโชคดีทำได้สำเร็จเมื่อวันที่ 15 ม.ค.62 แต่ช่วงนี้ความชื้นสัมพัทธ์มีน้อย และค่ายกตัวของเมฆยังเป็นอุปสรรค จึงสั่งให้กรมฝนหลวงฯ สแตนบายตลอด24 ชั่วโมง และประสานงานกับหน่วยงานหลัก ร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ผล เพราะมีความพร้อมในเรื่องสถานีทำฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ได้ตั้งไว้รอบกรุงเทพฯ พร้อมทั้งนักบิน เครื่องมือระบบการติดตามอย่างต่อเนื่องถ้าสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขฝนหลวงขึ้นทำทันที

ส่วนมาตรการแก้ปัญหาในเรื่องเผาซากพืช วัชพืช จากการทำเกษตร ที่ผ่านมาประสานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนทำให้การเผาซากพืชลดลงไปอย่างมาก ตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯได้ใช้ความก้าวหน้าไปช่วยเกษตรกร เช่น ข้าวโพดจะมีตอซังเหลือมากหลังเก็บเกี่ยว จากความเคยชินจะใช้วิธีเผากัน ซึ่งปัจจุบันให้ไถกลบ และใช้สารอีเอ็มโปรยจะย่อยสลาย ภายใน1สัปดาห์ โดยขณะนี้เกษตรกรนิยมใช้กันมาก รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่ออกไปทำความเข้าใจเข้มข้นมากขึ้น ทำให้การเผาซากพืชแทบจะไม่มี และมีการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านขอความร่วมมืองดเผาซากพืช จะเห็นว่ารัฐบาล ทำได้สำเร็จในช่วงฤดูแล้งเครื่องบินพาณิชย์ ไม่ต้องหยุดบิน

“ได้เห็นชอบแผนเพิ่มประสิทธิภาพฝนหลวง ซี่งปัจจุบันมีเครื่องบินขนาดใหญ่อยู่ 14 ลำ และให้จัดซื้อใหม่อีก 2 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินฝูงเก่าที่ใช้งานมานาน มีอายุตามวงรอบ และจัดหาเฮลิคอปเตอร์ อีก 1 ลำ ได้ตั้งงบไว้แล้ว ซึ่งเชื่อมั่นว่าการทำฝนหลวงมีศักยภาพดีขึ้น นอกจากนี้ ได้ให้แนวทางอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และเจ้าหน้าที่ ช่วยกันทดลองศึกษาหาเทคนิคเพิ่มเติม นอกจากปัจจัยความชื้นสัมพัทธ์ และค่ายกตัวของเมฆ ที่เหมาะสมจึงจะขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงได้ ขอให้แลกเปลี่ยนความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกันหาแนวทางพัฒนากิจการฝนหลวง ให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น” นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในหน้าแล้งนี้ กรมชลประทาน ยืนยันว่ามีน้ำเพียงพอ แต่ตนเป็นห่วงในเรื่องการใช้น้ำทำการเกษตร ยังมีการใช้น้ำมากโดยเฉพาะการปลูกข้าวต่อเนื่อง ได้ให้กรมชลฯไปวางมาตรการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด เพราะปัจจุบันการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพบล และสิริกิติ์ มาใช้ใต้เขื่อนใช้น้ำไปมากกับการเกษตร แม้ว่ารณรงค์ให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยแล้ว แต่ชาวนาก็ยังปลูกข้าวกันมาก ต้องไปเฝ้าระวังจุดสูงสุดที่จะใช้น้ำมากในช่วงเดือนมิถุนายน ส่วนปัญหาค่าความเค็ม ในแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำแม่กลอง ได้ใช้น้ำจืด ควบคุมปริมาณได้ ให้ค่าความเค็มไม่เกิน โดยใช้ระยะจากอ่าวไทย 13 กม.จะเป็นช่วงพื้นที่น้ำกร่อย

ปีนี้ข้าวราคาดี ข้าวหอมมะลิ ตันละ 1.8-2 หมื่นบาท ข้าวขาวราคา 8 พันบาท ชาวนาคุ้นเคยกับการทำนา ดังนั้นเมื่อปลูกข้าวนาปรังรอบแรกเก็บเกี่ยวแล้ว ขอไม่ให้ปลูกใหม่ หรือทำนาปรังรอบสอง ได้แจ้งกับนายอำเภอ กำนัน ลงทำความเข้าใจกับชาวนาใช้น้ำอย่างประหยัด กำจัดพื้นที่ปลูกตามแผน เพราะปีนี้เป็นปีแรกปรับเปลี่ยนจากปลูกข้าว มาปลูกข้าวโพดได้ถึง 7 แสนไร่ ปีหน้าแผนการผลิตใหม่เตรียมหาพืชอื่นไว้ด้วยที่มีราคาดี และหาจุดรับซื้อ มีตลาดรองรับแน่นอน ประกันภัยความเสี่ยงผลผลิต ใช้”กฤษฏาโมเดล “เป็นต้นแบบและเป็นชื่อที่สื่อตั้งให้ตนเองที่มาปฏิรูปภาคเกษตรได้เป็นรูปธรรม เกษตรกรจับต้องได้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 2 ลำรุ่นคาซ่า งบประมาณ 900 ล้านบาท จากประเทศอินโดนีเซีย และกำลังดำเนินการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ ด้วยวิธีอีบิดดิ้ง ครั้งที่ 3 วงเงิน 500 ล้านบาท โดยใช้งบปี 61-63 ซึ่งปีนี้จะได้เครื่องบินคาช่ามา 1 ลำและปีหน้าอีก 1 ลำ มาทดแทนเครื่องเก่า ปัจจุบันเครื่องบินฝนหลวงที่มีอายุการใช้งานเก่าสุด 40ปี และใหม่สุด 2 -3 ปี ซึ่งเครื่องบินที่สั่งมาใหม่มีเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น

ทั้งนี้ ยังมีปัญหาบุคคลากรไม่เพียงพอโดยมีข้าราชการ 205 คน พนักงานและลูกจ้าง กว่า 200 คน ซึ่งภารกิจฝนหลวงเพิ่มมากขึ้นทั้งพื้นที่เกษตร และในเขตเมือง เกิดผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนด้วยสภาวะโลกร้อนขึ้น ยังต้องการเจ้าหน้าที่เพิ่มอีกเท่าตัว เนื่องจากปฏิบัติการภารกิจทุกวันในการติดตามสภาพอากาศเฝ้าระวังตลอด ได้เสนอปัญหานี้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับได้ให้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ในการขออัตรากำลัง รวมทั้งเปิดรับสมัครนักบินอีก 4 ตำแหน่ง แทนเกษียณ อย่างไรก็ตาม นักบินฝนหลวงยังต้องการเพิ่มอีก 10 ตำแหน่งจึงเหมาะสมกับภารกิจ