'ธปท.-คลัง' คุมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ห้ามโขกดอกเบี้ย

'ธปท.-คลัง' คุมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ห้ามโขกดอกเบี้ย

"ธปท.-คลัง" จับมือคุมสินเชื่อจำนำทะเบียน หลังพบข้อร้องเรียนไม่เป็นธรรมเพียบ ขีดเส้นผู้ประกอบการห้ามคิดดอกเบี้ยโหด

นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงิน โดยมีทะเบียนรถเป็นหลักประกันอย่างแพร่หลาย แต่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลอย่างชัดเจน รวมถึงมีข้อเรียกร้องจากประชาชนจำนวนมาก ทั้งการคิดดอกเบี้ยแพงและแนวการปฏิบัติไม่เป็นธรรม

กระทรวงการคลัง และธปท.จึงต้องเข้ามากำกับดูแลผู้ประกอบการส่วนนี้ เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะระดับฐานราก รายย่อย เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม ด้วยการได้รับการบริการจากผู้ประกอบธุรกิจอย่างเป็นธรรม ไม่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

“เกณฑ์การปล่อยกู้ หากผู้ประกอบการที่ได้ไลเซ่นพีโลน ห้ามไปคิดอัตราดอกเบี้ยกับผู้กู้เกิน 28% เหมือนฟิโก้ที่คิดได้ไม่เกิน 36% ซึ่งเราก็จะมีการเข้าไปตรวจสอบอยู่ แต่คงไม่เหมือนที่เข้าไปตรวจธนาคารพาณิชย์ หรือผู้กู้สามารถร้องเรียนเข้ามาได้ หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกู้เงิน”
ทั้งนี้จากการสำรวจทั่วประเทศ พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจที่ทำธุรกิจจำนำทะเบียน ทั้งในส่วนของฟิโก ไฟแนนซ์ และสินเชื่อบุคคลทั่วประเทศอยู่ราว 1,000 แห่งทั่วประเทศในปัจจุบัน

สำหรับขอบเขตการดำเนินธุรกิจ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ สินเชื่อ Pico Finance โดยผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจนี้ จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท โดยมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย โดยมีการกำหนดเพดานของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ไม่เกิน 36% บวกค่าติดตามทวงถามหนี้ตามจริง

ประเภทที่ 2 สินเชื่อส่วนบุคคล หรือ Personal Loan กลุ่มนี้ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจ ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท โดยสินเชื่อประเภทนี้ จะไม่มีกำหนดวงเงินการปล่อยสินเชื่อขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยกลุ่มนี้ ไม่เกิน 28% ซึ่งรวม การคิดค่าธรรมเนียมอื่นๆไปแล้ว ยกเว้นค่าติดตามทวงหนี้ ค่าอากรแสตมป์ ค่าใช้จ่ายในการออกเช็ค ที่สามารถคิดได้ไม่เกิน 200บาทต่อครั้ง

นอกจากนี้ผู้ประกอบการห้ามคิดค่า Prepayment fee (ค่าธรรมเนียมการปิดบัญชีเงินกู้)กรณีลูกค้าไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนดทั้งจำนวนหรือบางส่าวน ห้ามคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับบนดอกเบี้ย ค่าปรับ บริการ และค่าธรรมเนียมอื่นๆ

ส่วนวันที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ประกาศนี้มีผล กฏหมายจะลงราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนก.พ.ซึ่งผู้ประกอบการเดิมสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ให้มายื่นขออนุญาตกับธปท.กระทรวงการคลัง ภายใน 60 วัน ขณะที่ผู้ประกอบการใหม่ให้มายื่นขออนุญาตผู้กำกับก่อนปล่อยสินเชื่อ ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาให้สามารถดำเนินธุรกิจได้นั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 120วัน