คุก 6 เดือนรอลงอาญา 2 ปี ผู้บริหารบริษัทรับจ้างเครือข่าย 'เมจิกสกิน'

คุก 6 เดือนรอลงอาญา 2 ปี ผู้บริหารบริษัทรับจ้างเครือข่าย 'เมจิกสกิน'

ศาลอาญา พิพากษาเครือข่ายผลิตเครื่องสำอางเมจิกสกิน เซรั่มรักแร้ขาว สำนวนแรกท้ายปี61 จำคุก 6 เดือน เจ้าของบริษัทรับจ้าง แต่ยังปรานีรอลงอาญา 2 ปี ส่วนเจ้าของเมจิก-ตรีชฎา-หญิงย้วย กับพวกรอตรวจหลักฐาน มี.ค.นี้

เมื่อวันที่ 24 ม.ค.62 นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสั่งฟ้องคดีเมจิกสกินในสำนวนต่างๆที่ พนักงานสอบสวน บก.ป.ได้ส่งสำนวนตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมาว่า หลังจากอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 ยื่นฟ้องคดีสำนวนแรกไปเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.61 ในส่วนของน.ส.ตรีชฎา (อายุ 35 ปีเศษ) ในความผิดร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , หลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนฯ หรือข้อมูลอันเป็นเท็จฯ และบริษัท ฮานิวโคเรีย จำกัด กับ น.ส.ปาจรีย์ (อายุ 33 ปีเศษ) ข้อหาร่วมกันจ้างผลิตเครื่องสำอางไม่จดแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางตามที่จดแจ้ง, ผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอาง ฉลากมีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง , รับจ้างผลิตเครื่องสำอางปลอม ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 แล้ว

เมื่อวันที่ 8 ม.ค.62 ที่ผ่านมา อัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 ก็ได้ยื่นฟ้อง บริษัท เมจิก สกิน จำกัด , นายกร พวงสน และนางวรรณภา พวงสน (สามี-ภรรยา) เป็นจำเลยที่ 1-3 ต่อศาลอาญา เป็นคดีดำ อ.42/2562 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ,ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน , ร่วมกันผลิตเพื่อขาย รับจ้างผลิตขาย และขายเครื่องสำอางปลอม (เครื่องสำอางที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิต หรือแหล่งผลิตที่มิใช่ความจริง) โดยไม่ได้รับการยกเว้นใดๆอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ในผลิตภัณฑ์ เซรั่มทารักแร้ขาว ตราตรีชฎา ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัว ในชั้นฟ้อง ขณะที่วันนี้ (24 ม.ค.) มีรายงานแจ้งว่าศาลอาญา นัดคู่ความไกล่เกลี่ย

นอกจากนี้ในวันที่ 8 ม.ค.อัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 ยังได้ยื่นฟ้อง บจก.เมจิกฯ , นายกร และนางวรรณภา เป็นจำเลย ที่ 1-3 ในคดีดำ อ.43/2562 ต่อศาลอาญาเป็นสำนวนที่ 2 ด้วย ในความผิดฐาน ร่วมกันผลิตเพื่อขาย เครื่องสำอางปลอม , เป็นผู้ร่วมกันผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางจัดให้มีฉลากและแสดงฉลากของเครื่องสำอางไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด , ร่วมกันผลิตเครื่องสำอางไม่ตรงตามที่ได้จดแจ้งเอาไว้อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย , ร่วมกันขายเครื่องสำอางปลอมและเครื่องสำอางที่แสดงฉลากของเครื่องสำอางไม่ถูกต้องอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย , ร่วมกันผลิตเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ควบคุมฉลากโดยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง , ร่วมกันผลิตอาหารปลอม อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย , ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , ร่วมกันนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน , ร่วมกันโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ และสรรพคุณอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นสินค้าเซรั่มยี่ห้อ Mezzo ,สบู่ Mezzo , อาหารเสริมคลีโอ และอาหารเสริมชิโนบิ

ขณะที่เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา อัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 ยังได้ยื่นฟ้อง นายพีร์นิธิ หรือนิน ติรณวัตถุภรณ์ , นายกสิทธิ์ หรืออเล็กซ์ วรชิงตัน (หญิงย้วยเน็ตไอดอลผู้โฆษณาขายสินค้าออนไลน์) และนายไมยสิทธิ์ หรือไมย สว่างธรรมรัตน์ ที่ถูกกล่าวหาร่วมเผยแพร่ผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ต่อศาลอาญาด้วยเช่นกัน

นายประยุทธ รองโฆษกอัยการฯ ยังกล่าวอีกว่า แต่สำหรับคดีกลุ่มเมจิก สกิน สำนวนแรกที่ได้ฟ้องไปเมื่อเดือน ธ.ค.61 ปรากฏว่า บจก.ฮานิว โคเรีย และน.ส.ปาจรีย์ วงศ์สมบูรณ์ ได้ให้รับสารภาพ ศาลอาญาจึงนัดฟังคำพิพากษาในส่วนนี้ไปแล้ว โดยอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจฯ 2 ได้แยกคดีของ น.ส.ตรีชฎา จำเลยร่วมนั้น มาฟ้องเป็นสำนวนใหม่เพียงคนเดียวเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นคดีดำ อ.44/2562 ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , หลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนฯ หรือข้อมูลอันเป็นเท็จฯ

โดยขณะนี้ มีคดีที่ยังอยู่ระหว่างการสั่งคดีของอัยการสำนักงานเศรษฐกิจฯ 1 อีก 1 สำนวนคือ คดี ส.1 ที่77/2561 ที่ น.ส.ณภัคษิกา กับพวกผู้เสียหาย รวม 216 คน กล่าวหา น.ส.มธุรส (อายุ 24 ปี) , บริษัท เบอไนซ์ จำกัด (ตัวแทนจำหน่าย Slim Milk Snow Milk) โดย น.ส.มธุรส , นางวรรณภา พวงสน หัวหน้าทีม , บจก.เมจิกสกิน , ว่าที่ ร.ต.ปวีร์ กลางประพันธ์ หรือปานดำรงสถิต (อายุ 50 ปี) และบริษัท เนเจอร์ นิวทริ จำกัด เป็นผู้ต้องหาที่ 1-6 (อัยการรับสำนวน จากกองปราบฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.61) รวม 5 ข้อหาฐานฉ้อโกงประชาชน , ร่วมกันผลิตและจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากเพื่อลวงผู้บริโภคซึ่งจัดเป็นอาหารปลอม , ร่วมกันผลิตเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ควบคุมฉลาก โดยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง, ร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จฯ สู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งขณะนี้คณะทำงานอัยการที่อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจฯ ตั้งมา ยังพิจารณาสำนวนยังไม่เสร็จ โดยนัดฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 28 ก.พ.นี้ เวลา 09.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ สำนวนคดีที่ บจก.ฮานิว โคเรีย และ น.ส.ปาจรีย์ วงศ์สมบูรณ์ ผู้บริหารบริษัทได้รับสารภาพการรับจ้างผลิตเซรั่มรักแร้ขาวตรีชฎานั้น อัยการได้แยกฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อ.3691/2561 ตามความผิด พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 โดยศาลอาญา มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.61 เป็นหมายเลขคดีแดง อ.3781/2561 ให้ปรับ บจก.ฮานิวโคเรีย เป็นเงิน 75,000 บาท และจำคุก น.ส.ปาจรีย์ เป็นเวลา 6 เดือนโดยโทษจำคุกนั้นให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

ส่วนคดีที่อัยการ แยกฟ้อง น.ส.ตรีชฎา ใจสบาย เป็นคดีหมายเลขดำ อ.44/2562 เมื่อวันที่ 8 ม.ค.62 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 , 343 , ความผิดพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 มาตรา 4 , 14 วรรคหนึ่ง นั้น ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อเดือน ก.พ. 60 จำเลยกับพวกร่วมกันโฆษณาหลอกลวง ผลิตภัณฑ์สรรพคุณที่ทำให้ผิวกระจ่างใส (Treechada Underarm Serum หรือเซรั่มรักแร้ขาว) ภายใต้ชื่อบริษัท บจก.เมจิก สกิน โดยเมื่อเดือน เม.ย.60 - 20 ก.พ.61 มีผู้เสียหายหลงเชื่อจากการโฆษณาหลอกลวงดังกล่าวที่มีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ จนจำเลยกับพวกได้รับเงินของผู้เสียหายไปเป็นจำนวน 10,059,556 บาท ซึ่งศาลสอบคำให้การจำเลยไปเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา และนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 11 มี.ค.นี้ เวลา 13.30 น.

ขณะที่ สำนวนซึ่งอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจฯ 1 ได้ยื่นฟ้อง นายกสิทธิ์ หรือหญิงย้วยเน็ตไอดอลผู้โฆษณาขายสินค้าออนไลน์) กับพวกรวม 3 คน ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 , 343 ,ร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 3 , 14(1) , พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 4,5,41,47 นั้น โดยพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างเดือน มิ.ย.60 - ก.พ.61 จำเลยกับพวกซึ่งมีเจตนาทุจริตร่วมกันฉ้อโกงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เผยแพร่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย จนมีผู้เสียหายหลงเชื่อจากดารโฆษณาทำให้พวกจำเลยได้รับเงินของผู้เสียเสียหายโดยทุจริต ซึ่งศาลอาญา ประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อ.152/2562 โดยนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 11 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

สำหรับคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง บ.เมจิก สกินฯ กับนายกร และ นางวรรณภา พวงสน 2 สำนวนในคดีหมายเลขดำ อ.42,43/2562นั้น วันนี้ศาลอาญาก็ได้นัดคู่ความเพื่อสอบถามตามมาตรการณ์คุ้มครองสิทธิซึ่งปรากฏว่าจำเลยสองสามีภรรยาที่ได้รับประกันตัววงเงินคนละ 2ล้านบาทยืนยันให้การปฏิเสธคดีจึงเข้าสู่การพิจารณา และให้นัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 4 มี.ค.

ขณะที่คดี ซึ่งได้ยื่นฟ้อง บจก.เมจิก สกิน กับนายกร และนางวรรณภา พวงสน สามีภรรยา ไว้ 2 สำนวนนั้น ในคดีหมายเลขดำ อ.42/2562 คำฟ้องอัยการคดีเศรษฐกิจฯ 2 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 60 15 ก.พ. 61 จำเลยทั้งสาม ร่วมกันผลิตเครื่องสำอาง เซรั่มยี่ห้อ Mezzo หรือ เมสโซ่ และ สบู่ยี่ห้อเมสโซ่ โดยจำเลยทั้งสาม ร่วมกันจดแจ้งการผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางดังกล่าว ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายใต้ชื่อ บจก.เมจิกสกิน ซึ่งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้จ้างบริษัท พี โอ เอส คอสเมติกส์ (ประเทศไทย) ให้เป็นผู้ทำการผลิตเซรั่มยี่ห้อ Mezzo หรือ เมสโซ่ โดยสบู่ยี่ห้อเมสโซ่ จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจดแจ้งการผลิตเมื่อวันที่ 2 พ.ย.60 ใช้ชื่อ (MEZZO FACIAL SOAP ACTIVE POLLUTION) โดยใช้ชื่อ บจก.เมจิก สกิน ซึ่งต่อมามีผู้เสียหายหลงเชื่อการโฆษณาหลอกลวงของจำเลยกับพวก และได้ส่งมอบเงินจำนวน 41,940 บาทให้กับพวกจำเลยหรือโดยผ่านตัวแทน เมื่อวันที่ 31 ม.ค.61 ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 , ร่วมกันนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3,14(1) , ร่วมกันโฆษณา คุณประโยชน์ คุณภาพ สรรพคุณอาหาร โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 มาตรา 4 ,22 วรรคสอง (2)(3),26,29 (1),68,71,75,89 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 4-6 (10) มาตรา 25(2),27(4),41,51,59,71

ส่วนคดีดำ อ.43/2562 อัยการคดีเศรษฐกิจฯ 2 ระบุพฤติการณ์จำเลยสรุปว่า ประมาณเดือน ก.พ.60 - เม.ย.61 จำเลยทั้งสาม กับ น.ส.ตรีชฎา และบจก.ฮานิว โคเรีย กับ น.ส.ปาจารีย์ วงศ์สมบูรณ์ จำเลยที่ 2-3 ในคดีอาญาหมายเลขแดง อ.3781/2561 ร่วมกันผลิตเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางปลอม (ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิตหรือแหล่งผลิตที่ไม่ใช่ความจริง) โดยไม่ได้รับการยกเว้นใดใด ซึ่งจำเลยที่ 1-3 กับบจก.ฮานิว และน.ส.ปาจารีย์ ร่วมกันรับจ้างผลิตเครื่องสำอางตรีชฎา (Treechada Underarm Serum หรือเซรั่มรักแร้ขาว) จาก น.ส.ตรีชฎา ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยนางวรรณภา จำเลยที่ 3 คดีนี้เป็นผู้ยื่นจดแจ้งการผลิตต่อ อย. ว่าผลิตโดย บจก.เมจิกสกิน ทั้งที่ความจริงแล้ว จำเลยทั้งสามได้จ้าง บจก.ฮานิวฯ กับ น.ส.ปาจารีย์ ให้ทำการผลิตเครื่องสำอางนั้น โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันขายเครื่องสำอางที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิตและแหล่งผู้ผลิตที่ไม่ใช่ความจริง

จากนั้นระหว่างเดือน มี.ค.60 - 20ก.พ.61 จำเลยทั้งสาม และน.ส.ตรีชฎา ยังร่วมกันขายเครื่องสำอางตรีชฎา (Treechada Underarm Serum หรือเซรั่มรักแร้ขาว) ซึ่งร่วมกันขายเครื่องสำอางที่ได้ระบุชื่อผู้ผลิตและแหล่งผลิตที่ไม่ใช่ความจริง อันเป็นเครื่องสำอางปลอมตามกฎหมาย และเป็นกรณีที่เครื่องสำอางดังกล่าวมีการสวมใช้หมายเลขจดแจ้งการผลิตเพื่อขายเครื่องสำอาง หรือ เลข อย. ที่ฉลากบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ไม่ตรงกับความจริง นอกจากนั้นจำเลยทั้งสาม ยังร่วมกันจดแจ้งสารสำคัญหรือส่วนประกอบที่ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ตรงกับฉลากในการจดแจ้ง ซึ่งจำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันขายเครื่องสำอางดังกล่าวให้กับผู้เสียหาย 4 คน รวมราคา 55,711,529 บาท อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 มาตรา 4,27(2),29(1)(4),75,76, พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3,14(1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,343

โดยคดีทั้ง 2 สำนวนดังกล่าว (คดีดำ อ.42/2562 กับ อ.43/2562) วันนี้ (24 ม.ค.) ศาลอาญา ก็ได้นัดคู่ความเพื่อสอบถาม ตามมาตรการคุ้มครองสิทธิ ซึ่ง นายกรและนางวรรณภา สามีภรรยาเจ้าของ บจก.เมจิก สกิน ที่ได้รับประกันตัววงเงินคนละ 2 ล้านบาท เดินทางมาศาลและยืนยันให้การปฏิเสธ คดีจึงเตรียมเข้าสู่การพิจารณา โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานทั้ง 2 คดี ในวันที่ 4 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น.