กรมชลฯ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ 5 สาย 'เบญจสุทธิคงคา'

กรมชลฯ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ 5 สาย 'เบญจสุทธิคงคา'

กรมชลฯ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ 5 สาย "เบญจสุทธิคงคา" แม่น้ำเพชรบุรี -แม่กลอง-เจ้าพระยา -ป่าสัก -บางปะกง สั่งตรวจสอบในเวลาเดียวกัน กำจัดวัชพืชดูแลความสะอาดตลอดลำน้ำ

เมื่อวันที่ 24 ม.ค.62 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,496 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 66 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 9,800 ล้าน ลบ.ม.โดยวางแผนบริหารจัดการน้ำสำหรับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานปี 2561/62 โดย กรมชลประทาน ได้ทำการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ในช่วงวันที่ 1 พ.ย. 61 ถึง 30 เม.ย. 62 จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตรและอื่นๆรวม 8,000 ล้าน ลบ.ม. ส่วนภาคการเกษตร ได้ทำการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 6.91 ล้านไร่ เช่น ข้าวนาปรัง 5.30 ล้านไร่ ข้าวโพด 0.70 ล้านไร่ พืชไร่พืชผัก 0.07 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 0.83 ล้านไร่

ทั้งนี้ ปัจจุบันผลการจัดสรรน้ำ มีการใช้น้ำไปแล้วตั้งแต่ 1 พ.ย. 61 ถึงวันที่ 22 ม.ค.62 ประมาณ 3,852 ล้านลบ.ม. มากกว่าแผนฯในช่วงดังกล่าว 412 ล้านลบ.ม. เพราะมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ตอนบนเกินกว่าแผนฯ ที่ตั้งไว้ ทำให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำมากกว่าแผนเป็นช่วง ๆ เพื่อการรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทาน พร้อมควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด

นอกจากนี้จากการติดตามผลการเพาะปลูกในเขตชลประทานถึงวันที่ 23 ม.ค. 62 มีการเพาะปลูกข้าวแล้ว 5.54 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปีต่อเนื่องรอเก็บเกี่ยว 0.05 ล้านไร่ และข้าวนาปรัง 5.49 ล้านไร่ ซึ่งเกษตรกรจะทยอยเก็บเกี่ยวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนม.ค.62

ทั้งนี้ หากเกษตรกรเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องทันทีจะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของข้าวที่อยู่ระหว่างการเพาะปลูก รวมถึงเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำ ตั้งแต่ต้นเดือนก.พ. 62 จะทยอยลดการระบายน้ำลงจาก 4 เขื่อนหลัก ตามลำดับเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องเกษตรกร ไม่ทำการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยว โดยรณรงค์ให้เพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยหลังการทำนา

“ยังขอให้เกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้น้ำ เข้าร่วมจัดรอบเวรการสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและการใช้น้ำของอาคารเชื่อมต่อแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามข้อตกลงและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและการใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ตลอดช่วงฤดูแล้งปี 2561/62 อีกทั้งยังเป็นการสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน” นายทวีศักดิ์ กล่าว

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบวีดีคอนฟอร์เรนท์ไปยังสำนักงานชลประทาน 1-17 ทั่วประเทศ ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศ ปัจจุบันมีน้ำรวมกัน 3.2 หมื่นล้านลบ.ม.มีแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 2.3 หมื่นล้านลบ.ม.โดยจัดสรรไปแล้ว 9.2 พันล้านลบ.ม.เป็นร้อยละ 40 เน้นเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก และยังคงเหลือปริมาณน้ำอีก 1.3 หมื่นล้านลบ.ม.หรือร้อยละ60 ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสัก รวม 1 หมื่นล้านลบ.ม.โดยมีแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง 8 พันล้านลบ.ม.จัดสรรไปแล้ว 3.9 พันล้านลบ.ม.หรือร้อยละ 49 คงเหลือ 4 พันกว่าล้านลบ.ม.หรือร้อยละ51และสำรองน้ำไว้อีก 5.5 พันล้านลบ.ม.เพื่อใช้ต้นฤดูฝน

ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ทำการปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อควบคุมค่าความเค็ม ปัจจุบันค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปราจีน-บางปะกง และแม่น้ำท่าจีน อยู่ในระดับควบคุมได้ ส่วนแม่น้ำแม่กลอง หลังจากเพิ่มการระบายน้ำแล้ว ปัจจุบันสามารถควบคุมความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้แล้วแต่ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่อไป

"ได้กำชับให้สำนักงานชลประทานที่อยู่ในเขตคุณภาพน้ำ 5 สาย เบญจสุทธิคงคา ได้แก่แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำบางปะกง ให้เฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพน้ำโดยกำหนดการตรวจสอบในเวลาเดียวกันและรายงานผลกลับมายังส่วนกลาง เพื่อการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และเฝ้าดูแลความสะอาดของลำน้ำ กำจัดวัชพืช และสิ่งกีดขวางอย่างต่อเนื่อง และขอให้พื้นที่ที่มีการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งร่วมมือกับจังหวัด สำรวจพื้นที่เพาะปลูกพร้อมขอความร่วมมือประชาชนในการจำกัดการเพาะปลูกในบางพื้นที่เพื่อนำมาวิเคาระห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูกาล"