ไขความลับ2ธุรกิจใหม่ ผลักดันฐานะ 'ชโย กรุ๊ป'

ไขความลับ2ธุรกิจใหม่ ผลักดันฐานะ 'ชโย กรุ๊ป'

เร่งสปีด 2 ธุรกิจใหม่ !! 'อสังหาริมทรัพย์ & ปล่อยสินเชื่อ' 3 ปีผลัดดันสัดส่วนรายได้แตะ 10% 'สุขสันต์ ยศะสินธุ์' หุ้นใหญ่ 'ชโย กรุ๊ป' โชว์พันธกิจเอาใจแฟนคลับ แย้มตัวเลขฐานะการเงินเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% ทุกปี

พัฒนาการที่ร้อนแรง!!! ทั้งในแง่ของฐานะการเงิน และราคาหุ้น ส่งผลให้ บมจ.ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO ผู้ประกอบกิจการเจรจาติดตามและเร่งรัดหนี้สิน และบริหารสินทรัพย์จากการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันจากสถาบันการเงินกลายเป็นหุ้นที่เหล่านักลงทุนจับจองเป็นเจ้าของ หลังมองว่าผลการดำเนินงานเติบโตอย่างแข็งแกร่ง 

ในไตรมาส 3 ปี 2561 บริษัทมี 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 64.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 112% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และมีรายได้ 188.20 ล้านบาท ขณะที่มีการซื้อหนี้เข้าพอร์ตแล้ว 9,200 ล้านบาท 'เกินเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ต้นปี'

ขณะเดียวกันราคา 'หุ้น CHAYO' ยังปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 108.33% จากราคาไอพีโอ 2.88 บาทต่อหุ้น โดยราคาเคยขึ้นไปสัมผัส 'จุดสูงสุด' 6.00 บาท เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2561 ล่าสุด และราคา 'จุดต่ำสุด' 2.72 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2561 

ประเด็นดังกล่าวอาจเป็นหนึ่งในเหตุผล ณ เวลานี้ที่ 'หุ้น CHAYO' กลายเป็นจุดสนใจของ 'นักลงทุนไซด์บิ๊ก' หากอิงตามสัดส่วนการถือหุ้น CHAYO ที่บริษัทแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะพบรายชื่อของ 'ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา' จำนวน 21,149,300 หุ้น คิดเป็น 3.78%

'สุขสันต์ ยศะสินธุ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO เล่าแผนการเติบโตของบริษัทให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ในปี 2562 บริษัทจะรุก 2 ธุรกิจใหม่ นั่นคือ คือ 'ธุรกิจสินเชื่อบุคคล' ประกอบด้วย สินเชื่อนาโน และพิโก ไฟแนนซ์ ซึ่งดำเนินการภายใต้บริษัทย่อย 'ชโย แคปปิตอล' และ 'ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์' ภายใต้บริษัทย่อย 'ชโย พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ เซอร์วิส' โดยตั้งเป้าหมายทั้ง 2 ธุรกิจ ปีนี้มีสัดส่วนรายได้ 5% และใน 3 ปีข้างหน้า (2562-2564) เป็น 10% ขึ้นไป  

'เรามองว่าทั้งสองธุรกิจเป็นโอกาสใหม่ๆ ที่สามารถเติบโตได้อีกมาก เพราะว่าจะเข้ามาเสริมในธุรกิจเดิมของเราได้ และเสริมรายได้เพิ่มขึ้น'  

เขาแจกแจงว่า สำหรับ 'ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์' ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการคุยกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เบอร์ต้นๆ ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ราว 2-3 ราย ในการร่วมกันพัฒนาที่ดินในรูปแบบคอนโดมิเนียม ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม เป็นต้นโดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 4 ปี 2562  

ปัจจุบันมีที่ดินในมือแล้ว 3-4 แปลง โดยที่ซื้อจากสถาบันการเงินที่ขายทอดตลาด NPA (Non Performing Asset) เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดเพิ่ม ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างพิจาณาความเหมาะสมการลงทุนว่าจะดำเนินธุรกิจในรูปแบบใด ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งธุรกิจร่วมทุน , ลงทุนทำเอง หรือแม้แต่การขายที่ดินเอง  

'เรากำลังคุยกับดีเวลลอปเปอร์หลายรายที่สนใจร่วมพัฒนาที่ดิน ซึ่งพอเขารู้ว่าเรามีความสนใจพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ เขาก็ยกหูโทรศัพท์มาคุยกับเรา'

อย่างไรก็ตาม มองว่าการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกฟหนึ่งโอกาสสร้างการเติบโต เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทขายที่ดินอย่างเดียวก็ได้กำไรในระดับหนึ่ง แต่หากบริษัทยืดเวลาออกไปจาก 1 ปี เป็น 2 ปีกว่าๆ ในการร่วมพัฒนาที่ดินแล้วขายและคุ้มค่ากับต้นทุนดอกเบี้ย 

สำหรับ 'ธุรกิจสินเชื่อบุคคล' บริษัทอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้บริษัทย่อย 'ชโย แคปปิตอล' ซึ่งมองว่า ธปท.มีความเป็นห่วงในประสบการณ์การดำเนินธุรกิจดังกล่าวจึงขอให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติม คาดว่าจะสามารถอนุมัติได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2562 

หากบริษัทได้รับการอนุมัติจาก ธปท. ก็สามารถดำเนินการได้ทันที่ เพราะว่าปัจจุบันบริษัทมีแผนดำเนินการพร้อมแล้ว โดยอยู่ระหว่างการร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีโรงงานและมีพนักงานในบริษัทระดับ  'หมื่นคน' ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทที่จะไปปล่อยสินเชื่อกลุ่มคนดังกล่าว ทั้งสินเชื่อมีหลักประกันและสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ซึ่งบริษัทจะใช้กลยุทธ์การเข้าไปคุยกับเจ้าของโรงงานเอง และเซ็นต์สัญญาความร่วมมือระหว่างกัน

โดยสินเชื่อมีหลักประกันนั้น บริษัทจะปล่อยสินเชื่อตามราคาประเมินสินทรัพย์นั้นๆ เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นต้น โดยจะให้วงเงินปล่อยสินเชื่อตามราคาประเมินไม่ต่ำกว่า 50% ของราคาประเมิน ขณะที่สินเชื่อไม่มีหลักประกันบริษัทจะปล่อยสินเชื่อในระดับ 10,000-30,000 บาทก่อน และตอนนี้มีโรงงานที่จะมาเป็นพันธมิตรแล้วในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ และโรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามประมาณ 2-3 โรงงาน  

ทั้งนี้ บริษัทมี 'จุดแข็ง' คือความชำนาญในการเก็บและปล่อยสินเชื่อ จึงมั่นใจว่าธุรกิจปล่อยสินเชื่อของบริษัทจะได้รับการตอบรับที่ดี โดยเชื่อว่าการดำเนินธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทนั้น จะช่วยผลักดันให้ผลประกอบการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตด้วย 

'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' แจกแจงต่อว่า ในปีนี้บริษัทยังเน้นกลยุทธ์เชิงรุกในทุกธุรกิจและยังคงเน้นในการซื้อหนี้มาบริหารเป็นหลักเช่นเดิม โดยตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 15% ต่อปี โดย 'ธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ' ยังเน้นซื้อกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินที่เป็นธนาคารพาณิชย์เป็นหลักมาบริหารทั้งหนี้ที่มีหลักประกันและหนี้ไม่มีหลักประกัน 

อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่าหากมีการซื้อหนี้ที่ไม่มีหลักประกันในจำนวนมากก็มีโอกาสทำให้มูลค่าหนี้ที่เข้ามาในพอร์ตมีโอกาสเกิน 'หมื่นล้านบาท' จากแผนการลงทุนและการจัดหาเงินไว้ราว 1,000-1,200 ล้านบาท โดยใช้สำหรับซื้อหนี้เพิ่ม 800-1,000 ล้านบาท

'ในปีนี้เราวางแผนการลงทุนและการจัดหาเงินทุนไว้ประมาณ 1,000–1,200 ล้านบาท โดยใช้สำหรับซื้อหนี้เพิ่มประมาณ 800–1,000 ล้านบาท และสำหรับธุรกิจปล่อยกู้ไว้ประมาณ 200–400 ล้านบาท'

สำหรับ 'ธุรกิจเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้' ในแผนธุรกิจบริษัทจะเน้นขยายฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เช่น ลิสซิ่ง , นอนแบงก์ , รถยนต์ เป็นต้น จากปัจจุบันกลุ่มลูกค้าตามคือ กลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล 

ทั้งนี้ บริษัทเป็นผู้ให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ โดยบริษัทจะรับติดตามทวงถามหนี้ซึ่งเป็นหนี้ด้อยคุณภาพหรือหนี้คงค้างที่ผู้ว่าจ้างต้องการให้ติดตามทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่ผู้ว่าจ้างได้กำหนดไว้ ภายใต้พระราชบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้เงินกู้ส่วนบุคคล รวมถึงหนี้ค่าสาธารณูปโภค หนี้ค่าบริการ และหนี้โทรศัพท์ เป็นต้น

ขณะที่ บริษัทประเมินว่าจะได้รับผลดีจาก 'ตัวเลขหนี้เสีย' (NPL) ในปี 2562 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจากการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) จะส่งผลให้ธนาคารต้องมีการขายหนี้เสียออกมา คาดว่ามูลค่าหนี้ในระบบจะอยู่ที่ 'ระดับ 4.3 แสนล้านบาท' แบ่งเป็นหนี้ไม่มีหลักประกันราว 1 แสนล้านบาท และหนี้มีหลักประกัน 3.3 แสนล้านบาท ทำให้บริษัทคาดว่ายังมีโอกาสการเติบโตอีกมาก

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2561 เขาบอกว่า แนวโน้มจะมีผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อหนี้จากสถาบันการเงินจำนวน 5-6 แห่ง รวมมูลค่าหนี้ประมาณ 4,000–5,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ตลอดปี 2561 บริษัทคาดว่าจะเข้าซื้อหนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย 

โดยปลายเดือน ก.ย. 2561 บริษัทได้ดำเนินการซื้อหนี้แล้ว 9,207 ล้านบาท ขณะที่มูลหนี้คงค้าง ณ ไตรมาส 3 ปี 2561 อยู่ที่ 38,501 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันประมาณ 35,780 ล้านบาท และหนี้ที่มีหลักประกันประมาณ 2,721 ล้านบาท 

ในขณะที่รายได้รวมงวด 9 เดือนปี 2561 มีรายได้รวมอยู่ที่ 186.48 ล้านบาท และกำไรสุทธิงวด 9 เดือนปี 2561 อยู่ที่ 64.38 ล้านบาท ทะลุเป้าที่วางไว้ที่จะกำไรโตเกิน 10% ของปีก่อน (ปี 2560 บริษัทมีกำไรทั้งสิ้น 58.24 ล้านบาท) และอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 65.0% และอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 34.5% 

ท้ายสุด 'สุขสันต์' ทิ้งท้ายไว้ว่า ในอนาคตหากต้องการเติบโตแบบรวดเร็ว อาจจะต้องใช้กลยุทธ์การซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์) ซึ่งวิธีดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งบริษัทกำลังศึกษาธุรกิจที่เกิดการกำลังผนึก (Synergy) แล้วทำให้ทุกธุรกิจเติบโต 

โบรกฯ มองธุรกิจ 'สดใส'

บริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ ระบุว่า มีมุมมองต่อ บมจ. ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO ว่า แนวโน้มผลประกอบการในอนาคตค่อนข้างสดใส จากฐานหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่ๆ สำหรับแนวโน้มปี 2561 เติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยหนุนจากฐานมูลหนี้ NPL ที่ใหญ่ขึ้นจะช่วยให้รายได้จากการบริหารหนี้ที่ไม่มีหลักประกันเติบโตต่อเนื่อง แต่สำหรับหนี้มีหลักประกันยังคาดเดาได้ยาก และอาจลดลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาบริษัทมีการรับรู้รายได้จากการขายที่ดินแปลงใหญ่เข้ามาราว 30 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากมองแนวโน้มปี 2562 จะมีหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่จะตัดต้นทุนครบ ซึ่งจะช่วยให้รายได้และกำไรเติบโตอย่างมีนัยสำคัญทั้งนี้ CHAYO ได้เงินจากการ IPO ราว 400 ล้านบาท ซึ่งในครึ่งปีแรกบริษัทได้นำไปลงทุนซื้อ NPL มาบริหารคิดเป็นมูลหนี้ราว 8,500 ล้านบาท ใช้เงินลงทุนไปราว 95 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ไม่มีหลักประกันราว 7,900 ล้านบาท และหนี้ที่มีหลักประกันอีกราว 600 ล้านบาท  

นอกจากเงินทุนที่เหลือจากการ IPO ภายหลังการซื้อหนี้ในครึ่งปีแรก ปัจจุบันบริษัทยังมีสัดส่วน D/E ต่ำมากเพียง 0.12 เท่า ทำให้ไม่มีปัญหาในการซื้อ NPL เพิ่มเติม เนื่องจากยังสามารถกู้ยืมได้อีกมาก ตามเป้าหมายของบริษัทที่สัดส่วน D/E ไม่เกิน 2 เท่า 

สำหรับเป้าหมายการซื้อหนี้เดิมของบริษัทที่ปีละ 8,000 ล้านบาท ครึ่งปีแรกลงทุนไปเกินเป้าแล้ว บริษัทจึงมีการปรับเป้าซื้อหนี้ใหม่เป็น 10,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีโอกาสในการประมูลหนี้อีกมากจึงอาจเห็นการปรับเป้าหมายใหม่อีกได้