4พันธมิตรดันสมาร์ทพาร์ค

4พันธมิตรดันสมาร์ทพาร์ค

กนอ. จับมือ กฟน. ทีโอที ธพว. ดันโครงสร้างพื้นฐานนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค หนุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเร็วสูง พลังงานอัจฉริยะ รองรับการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ หวังเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.อยู่ระหว่างผลักดันโครงการสมาร์ทพาร์ค โดยกำลังจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าจะเสร็จในเดือน มิ.ย.-ก.ค.2562 และจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติโครงการ รวมทั้งเริ่มก่อสร้างต้นปี 2563 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ปี 2565

สำหรับ โครงการสมาร์ทพาร์ค ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีพื้นที่ 1,500 ไร่ ใช้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2,800 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่

ทั้งนี้ มีนักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในสมาร์ทพาร์คหลายราย เช่น บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี) ที่มีแผนตั้งโรงงานผลิตก๊าซไนโตรเจนป้อนโรงงาน รวมทั้งกลุ่ม ปตท.จะเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีชั้นสูง และมีนักลงทุนจากจีนหลายรายสนใจมาลงทุน

นอกจากนี้ กนอ.เตรียมพื้นที่อีก 20 ไร่ สำหรับโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) ที่จะนำความเย็นจากโรงงานก๊าซแอลเอ็นจีมาใช้ในโครงการนี้ โดยคาดว่าสมาร์ทพาร์คจะมีเอกชนเข้ามาลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

4พันธมิตรดันสมาร์ทพาร์ค

หวังยกระดับภาคการผลิตไทย

นางสาวสมจิณณ์ กล่าวว่า กนอ.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับพันธมิตร 3 ฝ่าย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ในการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคมอัจฉริยะ และบันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค เพื่อเตรียมความพร้อมของสาธารณูปโภคอัจฉริยะก้าวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ทั้งด้านระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบให้บริการธุรกรรมทางการเงิน การใช้พลังงานอัจฉริยะ

“ความร่วมมือนี้จะต่อยอดภาคการผลิต เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตของไทย โดยใช้นวัตกรรมที่จะเชื่อมโยงความเจริญไปสู่ภูมิภาค”

สำหรับความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุม 3 ด้าน คือ 1.การพัฒนาพลังงานอัจฉริยะที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ทั้งในด้านการใช้พลังงานทดแทน และการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

2.การให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับบริการระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้งในการวางระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม ระบบการสื่อสารไร้สาย รวมทั้งดิจิทัล โซลูชั่น แพลตฟอร์ม ซึ่งประกอบด้วยการให้บริการด้านการเก็บรักษาข้อมูลให้กับผู้ประกอบการโดยใช้ระบบศูนย์กลางการเก็บข้อมูล (ดาต้า เซ็นเตอร์) ด้วยรูปแบบการให้บริการหลายด้าน เช่น คลาวด์แพลตฟอร์ม ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล

รวมทั้ง รองรับไอโอที แพลตฟอร์ม ที่เชื่อมโยงข้อมูลด้วยระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันการเจาะข้อมูลเข้าสู่ระบบบิ๊ก ดาต้า หรือ ระบบศูนย์ข้อมูลกลางที่สามารถนำไปประมวลผลเพื่อประโยชน์การผลิตและวางแผน และเอไอ แพลตฟอร์ม หรือระบบประมวลผลอัจฉริยะ

3.การสนับสนุนทางด้านแหล่งเงินทุน องค์ความรู้ทางการตลาด การจัดการผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ที่ควบคู่กับการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการ นิคมอุตสาหกรรมที่เข้ามาใช้พื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค

กฟน.วางระบบไฟฟ้าอัจฉะริยะ

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟน.กล่าวว่า กฟน.จะนำความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าอัจฉริยะเข้ามาดำเนินการ รวมทั้งการนำสายไฟฟ้าลงดิน เนื่องจากในพื้นที่นี้จะต้องมีความมั่นคงทางไฟฟ้า และมีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการนำพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ในพื้นที่นี้

“หลังจากที่โครงการสมาร์ทพาร์ค ผ่านอีไอเอจะมาจัดทำแผนการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่จะมาลงทุน รวมทั้งจะสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดร่วมกับการใช้ไฟฟ้าพื้นฐาน เพื่อให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะส่งเสริมให้นิคมอุตสาหกรรมมีความทันสมัย ชุมชนในนิคมอุตสาหกรรมมีคุณภาพชีวิตที่ดี” นายกีรพัฒน์ กล่าว

“ทีโอที”พร้อมลงทุน5จีในอีอีซี

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า ทีโอทีจะดำเนินการใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.วางระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เช่น การส่างวางสายใยแก้วนำแสงร้อยท่อใต้ดิน ที่จะทำร่วมกับ กฟน.ที่จะเข้ามาวางระบบไฟฟ้าอัจฉริยะในโครงการสมาร์ทพาร์ค ซึ่งจะนำสายไฟฟ้าลงท่อใต้ดินพร้อมกับสายใยแก้วนำแสงของทีโอที เพื่อให้ง่ายต่อการบำรุงรักษา 2.การให้บริการด้านดิจิทัล โดยเฉพาะในเรื่องอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งจะออกแบบให้สอดคล้องกับการใช้พื้นที่ รวมทั้งจะมีบริการระบบคราว เซิร์ฟเวอร์ ตลอดจนการทำแอพพลิเคชั่นให้กับ กนอ.

“ในอนาคตหากสถานประกอบการในพื้นที่สมาร์ทพาร์คต้องการระบบโทรคมนาคมที่รวดเร็วขึ้น ก็พร้อมที่จะลงทุนระบบ 5 จี ในพื้นที่นี้ เพื่อให้โครงสร้างโทรคมนาคมมีความทันสมัยที่สุด ส่วนเงินลงทุนยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ จะต้องรอให้โครงการสมาร์ทพาร์ค ผ่านการจัดทำ อีไอเอ ก่อน จึงจะออกแบบระบบกำหนดวงเงินลงทุนได้ชัดเจน”

นายมนต์ชัย กล่าวว่า ทีโอทีจะร่วมสนับสนุนด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลให้กับผู้ประกอบในนิคมอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เอสเอ็มอี ในการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ Digital Transformation ด้วยการดำเนินงานที่ใช้ดิจิทัลเป็นฐาน และพัฒนาธุรกิจไปสู่ดิจิทัล 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาขยายตลาดสร้างรายได้เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่จะเข้ามาลงทุนในอนาคต