โตโยต้าคาดตลาดรถติดลบ 3.8% จับตาดอกเบี้ย-สงครามการค้า

โตโยต้าคาดตลาดรถติดลบ 3.8% จับตาดอกเบี้ย-สงครามการค้า

โตโยต้าประเมินตลาดรวมรถยนต์ปีนี้ 1 ล้านคัน ติดลบ 3.8% เหตุมาตรการกระตุ้นยอดขายลดความร้อนแรง หวั่นปัจจัยลบ

อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ไฟแนนซ์เข้ม สงครามการค้าจีน-สหรัฐบานปลาย เดินหน้ายกระดับเทคโนโลยี รับการเปลี่ยนแปลงโลกยานยนต์ เร่งแผนผลิตแบตเตอรี่ไฮบริดเดือน พ.ค. พร้อมศึกษาความพร้อมโครงการลงทุน ปลั๊กอิน ไฮบริด-อีวี ต่อเนื่อง 

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ โดยระบุว่าปี 2561 ที่ผ่านมา ตลาดยอดขายมากกว่า 1 ล้านคันเป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ โดยทำได้ 1.039 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 19.2% จากปีก่อนหน้า โดยสิ่งที่สนับสนุนการเติบโตมาจากหลายปัจจัย ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ผลักดันให้ จีดีพี เติบโต 4.2% จากการประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 2 ม.ค. ปีนี้ และผลมาจากการที่บริษัทรถยนต์มีมาตรการส่งเสริมการขายจำนวนมาก ผ่านทางแคมเปญที่หลากหลาย โดยเฉพาะเงื่อนไขทางการเงิน ทั้งการดาวน์ต่ำ ผ่อนชำระยาวนาน และอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงกิจกรรมการตลาดอื่นๆ และการมีสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดตลอดทั้งปี 

ประเมินตลาดรถยนต์ปีนี้ 1 ล้านคัน

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เมื่อแบ่งเป็นประเภท พบว่ารถยนต์นั่งมียอดขายรวม 3.97 แสนคัน เพิ่มขึ้น 14.8%  รถเพื่อการพาณิชย์ (รวมรถปิกอัพ) 6.41 แสนคัน เพิ่มขึ้น 22.1%  และรถปิกอัพ  4.47 แสนคัน เพิ่มขึ้น 22.6%

ส่วนแนวโน้มตลาดปีนี้ ประเมินว่าใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยติดลบเล็กน้อย 3.8% ด้วยยอดขาย 1 ล้านคัน โดยรถยนต์นั่งคาดว่าทำได้ 3.84 แสนคัน ลดลง 3.2% รถเพื่อการพาณิชย์ (รวมปิกอัพ) 6.15 แสนคัน ลดลง 4.1% และรถปิกอัพ 4.3 แสนคัน ลดลง 3.7%

การประเมินว่าตลาด 1 ล้านคัน ซึ่งเป็นระดับที่สูง เพราะเห็นว่าการลงทุนภาครัฐมีความชัดเจนและต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน รวมถึงการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ แต่การที่มองว่าติดลบเล็กน้อย เนื่องจากยอดขายในปีที่ผ่านมามีการเติบโตที่สูงจากแรงกระตุ้นด้านต่างๆ จำนวนมาก แต่ปีนี้ความร้อนแรงเหล่านั้นอาจจะลดลง

“การประเมินดังกล่าวคำนึงถึงปัจจัยลบที่อาจจะเกิดขึ้นรวมเอาไว้แล้ว แต่ถ้าทุกอย่างดี ก็มีความเป็นไปได้ที่ยอดขายจะสูงกว่า 1 ล้านคัน เหมือนกับที่ปี 2561 ที่ช่วงต้นปี โตโยต้าประเมินไว้แค่ 9 แสนคันเท่านั้น แต่เมื่อสิ้นปี ก็พบว่าตลาดขยายตัวเกินกว่าที่คาดไว้”

จับตาปัจจัยลบดอกเบี้ย-สงครามการค้า

ในส่วนปัจจัยลบที่นำมาใช้ในการประเมินตลาดครั้งนี้ คือ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้น ถึงความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ รวมไปถึงปัจจัยภายนอกก็คือ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งปีที่ผ่านมาไม่ส่งผลกระทบกับตลาดรถยนต์ไทย แต่ถ้าหากขยายขอบข่าย เพิ่มความรุนแรง และยืดเยื้อ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทยได้เช่นกัน เนื่องจากไทยกับจีนมีการค้าระหว่างกันจำนวนมาก โดยไทยส่งสินค้าไปจำหน่ายที่จีนคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.9 แสนล้านบาท) 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ประกอบต่างๆ ก็เตรียมความพร้อมรองรับ เช่น อัตราดอกเบี้ย หากปรับขึ้นจริงก็คงจะต้องหาทางชดเชยเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค และกระทบต่อยอดขาย

โตโยต้าตั้งเป้าขายโต4%ส่งออกลด8%

นายซึงาตะ กล่าวว่า ในส่วนของโตโยต้า ปี 2561 ที่ผ่านมา มียอดขายรวม 3.15 แสนคันในปี 2561 เพิ่มขึ้น 31.2% มีส่วนแบ่งตลาด 30.3% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2.8 จุด แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 1.12 แสนคัน เพิ่มขึ้น 16.3% รถเพื่อการพาณิชย์ (รวมปิกอัพ) 2.02 แสนคัน เพิ่มขึ้น 41.2% และรถปิกอัพ 1.5 แสนคัน เพิ่มขึ้น 37.2%

ส่วนปีนี้แม้ว่าจะประเมินยอดขายตลาดรวมติดลบ แต่โตโยต้ามั่นใจว่าจะสามารถเติบโต 4.7% ด้วยยอดขาย 3.3 แสนคัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 1.2 แสนคัน เพิ่มขึ้น 7.1% รถเพื่อการพาณิชย์ (รวมปิกอัพ) 2.09 แสนคัน เพิ่มขึ้น 3.4% และรถปิกอัพ 1.54 แสนคัน เพิ่มขึ้น 2%

ขณะที่ การส่งออก ซึ่งปีที่แล้วโตโยต้าทำได้ 2.93 แสนคัน ลดลง 1.8%  คิดเป็นมูลค่า 1.54 แสนล้านบาท ส่วนการส่งออกชิ้นส่วนและเครื่องยนต์ มีมูลค่า 1.19 แสนล้านบาท รวมมูลค่าการส่งออก 2.73 แสนล้านบาท ลดลง 2.6% 

ส่วนเป้าหมายการส่งออกปีนี้ 2.7 แสนคัน ลดลง 8% คิดเป็นมูลค่า 1.37 แสนล้านบาท เป้าหมายส่งออกชิ้นส่วนและเครื่องยนต์ มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท รวมมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 2.57 แสนล้านบาท ลดลง 5.8% 

“การส่งออกที่ติดลบในปีที่แล้ว และต่อเนื่องในปีนี้ เป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศลูกค้าสำคัญ คือ ตะวันออกกลาง รวมถึงตลาดในกลุ่มประเทศอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ซึ่งการส่งออกที่ลดลง ทำให้โตโยต้าปรับแผนการผลิตปีนี้อยู่ที่ 5.77 แสนคัน ลดลง 2% จากปีที่ผ่านมาที่มียอด 5.88 แสนคัน เพิ่มขึ้น 12.5%”

เร่งแผนผลิตแบตเตอรี่ไฮบริด เริ่ม พ.ค.

ส่วนความเคลื่อนไหวที่สำคัญของโตโยต้าในปีนี้ คือ เปลี่ยนแปลงตัวเองรับมือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียานยนต์ จากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์สู่การเป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อน (Mobility Company) รวมถึงการให้บริการทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับระบบการเดินทาง เช่น โครงการ CU TOYOTA Ha:mo ที่ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาความต้องการและเงื่อนไขการแชริ่งในเขตชุมชนเมือง ซึ่งได้การตอบรับที่ดี ทำให้มีแผนที่จะขยายขอบข่ายให้มากขึ้น 

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและตอบสนองนโยบายของภาครัฐ  โดยจะเร่งโครงการผลิตแบตเตอรี่ไฮบริดให้เร็วขึ้นเป็นเดือน พ.ค.นี้ที่โรงงานเกตเวย์ ฉะเชิงเทรา พร้อมทั้งเริ่มต้นโครงการการจัดการแบตเตอรี่ทั้งวงจรชีวิต ประกอบไปด้วย รีบิวท์  คือ การนำแบตเตอรี่ใช้แล้วมาทำการคัดแยกโมดุล  ที่ยังสามารถใช้งานได้ นำมารวบรวมและจัดเรียงใหม่ ประกอบเป็นแบตเตอรี่ใหม่ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง รียูส คือ การนำแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วมาทำการคัดแยกโมดุล ที่ยังคงมีประสิทธิภาพในการเก็บพลังงานไฟฟ้า นำมาประกอบเข้ากับระบบ BMS เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บพลังงานงานสำรอง (Energy storage) และ รีไซเคิล ในกรณีที่โมดุลที่ผ่านการคัดแยกไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ จะถูกนำไปผ่านกระบวนการเผาเพื่อคัดแยกแร่ธาตุ และนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ก้อนใหม่

เดินหน้าศึกษา อีวี ปลั๊กอิน ไฮบริด

ส่วนโครงการลงทุนในโครงการส่งเสริมการผลิตรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในส่วนของปลั๊กอิน ไฮบริด และ ไฟฟ้า (EV) ที่โตโยต้ายื่นขอรับการส่งเสริมช่วงปลายปี 2561 จะเริ่มต้นศึกษารายละเอียดในทุกแง่มุม ทั้งการตอบรับของลูกค้า ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงระดับราคา ให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มต้นการผลิตภายใน 3 ปี ตามกรอบเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กำหนดเอาไว้

ทั้งนี้ แม้จะยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่เมื่อดูจากความเป็นไปได้ เชื่อว่าโครงการที่จะเริ่มต้นก่อนคือ ปลั๊กอิน ไฮบริด